หลวงพ่อเกษม เขมโก เดิมมีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง ท่านเป็นผู้สืบตระกูล ณ ลำปาง โดยโยมบิดาของท่าน ชื่อ เจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง รับราชการเป็นปลัดอำเภอ และโยมมารดา เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย ต่อมานามสกุล ณ ลำปาง ของท่านก็เปลี่ยนเป็น มณีอรุณ
หลวงพ่อเกษม เขมโก เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ (ร.ศ. ๑๓๑, จ.ศ. ๑๒๗๔, ค.ศ. ๑๙๑๒) ณ บ้านท่าเก๊าม่วง ริมแม่น้ำวัง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยชาวล้านนาเชื่อกันว่า ท่านเป็นผู้ครูบาศรีวิชัย พยากรณ์ชะตาตัวเองเอาไว้ก่อนที่จะละสังขารว่าจะได้กลับมาจุติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงพ่อเกษมอยู่ในวัยเด็ก ท่านเป็นคนร่างสันทัด ผิวขาว แข็งแกร่ง บุคลิกลักษณะดีมาแต่กำเนิด ว่องไว และสติปัญญาเฉลียวฉลาด นุ่มนวล แสดงออกซึ่งลักษณะของการประนีประนอม แม้จะซุกซนก็เป็นธรรมดาของวัยเด็ก ไม่มีการแสดงออกซึ่งความแข็งกร้าว
ท่านได้ศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล จบการศึกษาชั้นประถมปี ๕ การศึกษาสามัญ อันเป็นขั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ขณะนั้นอายุได้ ๑๑ ปี และหลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้เข้าเรียนที่ไหนอีกเลย หลังจากที่ท่านได้ออกจากโรงเรียนมาอยู่ที่บ้านเป็นเวลา ๒ ปี ตรงกับปี ใน พ.ศ.๒๔๖๘ อายุขณะนั้นได้ ๑๓ ปี เจ้าเกษม ณ ลำปาง ท่านก็ได้ชี้ทางธรรมชีวิตของท่านเองก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยบรรพชาเป็นสามเณร เนื่องในโอกาสบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดัวะ ซึ่งเป็นเครือญาติกัน ครั้นบวชได้เพียง ๗ วันก็ลาสิกขาออกไป ใช้ชีวิตปรกติอีก ๒ ปี ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง แต่คราวนี้การบวชของท่านเพื่อที่ท่านจะศึกษาพระวินัยที่วัดบุญยืนนั้นเอง ซึ่งในขณะนั้นท่านได้ตั้งใจศึกษษอย่างแท้จริง ท่านศึกษามาตลอกจนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ขณะนั้นสามเณรเกษม อายุได้ ๒๐ ปี ก็สามารถเรียนนักธรรมสอบได้ชั้นโท มีความแตกฉานในด้านบาลีมาก และในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบุญยืน จังหวัดลำปาง โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธรรมจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปาง (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, ท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระธรรมจินดานายก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เขมโก” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีธรรมอันเกษม” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านก็ยังศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในระยะแรกๆ โดยได้เข้าเรียนภาษาบาลีและปริยัติธรรมจากสำนักวัดศรีล้อม วัดบุญวาทย์วิหาร วัดเชตวัน และวัดเชียงราย ในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีครูสอน อาทิ ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิโสภณ (อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง), พระมหาตาคำ, พระมหามงคล บุญเฉลิม, มหามั่ว พรหมวงศ์, มหาปราโมทย์ (นาม) นวลนุช, พระมหาโกวิท โกวิทยากร การศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านสอบได้นักธรรมเอกในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะนั้นอายุได้ ๒๔ ปี และเรียนภาษาบาลีที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร สามารถแปลพระธรรมบทได้ ๘ ภาค เรียนพระปาติโมกข์ สวดพระปาติโมกข์ ในอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหารหลายปี ถึงเวลาสอบเปรียญ ๓ ท่านไม่ยอมสอบทั้งๆ ที่มีความสามารถสอบได้อย่างแน่นอน แต่ทั้งกลับไปให้ความสำคัญกับการเรียนการ วิปัสสนา กรรมฐาน ซึ้งท่านได้รับการศึกษามาจากองค์แรกของหลวงพ่อเกษม เขมโก ก็คือ หลวงพ่อครูบาแก่น (อุบล สุมโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง จังหวัดลำปาง ต่อมา เจ้าอธิการเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน ถึงแก่มรณภาพ ทางคณะศรัทธาญาติโยมจึงได้นิมนต์หลวงพ่อเกษมให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านเกิดเบื่อหน่ายและได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อออกเดินธุดงค์ เนื่องจากท่านชอบความวิเวก โดยท่านกล่าวมีความตอนหนึ่งว่า “…ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้ว การเป็นเจ้าอาวาสเปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการความวิเวก ไม่ขอกลับมาอีก…” แต่พวกชาวบ้านก็ไม่ละความพยายาม เพราะชาวบ้านเหล่านี้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อพอ รู้ว่าหลวงพ่ออยู่ที่ไหนเมื่อรวมกันได้ ๔0-๕0 คน ก็ออกเดินทางไปตามหาหลวงพ่อเกษม และไปพบหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน หลวงพ่อเกษมได้ปฏิบัติธรรมที่นั่น พวกชาวบ้านได้อ้อนวอนหลวงพ่อ ขอให้กลับวัด บางคนร้องไห้เพราะศรัทธาในตัวหลวงพ่อมาก แต่หลวงพ่อเกษมท่านก็นิ่งไม่พูดไม่ตอบ จนพวกชาวบ้านต้องยอมแพ้ ตลอดพรรษาปี ๒๔๙๒ หลวงพ่อเกษมท่านก็จำพรรษาอยู่ที่ศาลาวังทานโดยไม่ยอมกลับวัดบุญยืน เรื่องราวดังกล่าวนี้ได้ยินถึงโยมมารดาของหลวงพ่อเกษม ซึ่งพอทราบข่าวว่าหลวงพ่อเกษมหนีออกจากวัดบุญยืน อยู่ที่ศาลาวังทาน ด้วยความรักที่โยมแม่มีต่อบุตรชาย ถึงแม้ท่านเป็นพระสงฆ์ จึงให้คนพาไปหาหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน โดยมี (เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง) ตอนนั้นยังบวชเป็นสามเณรอยู่ โยมแม่ได้ขอร้องให้หลวงพ่อเกษมกลับวัด แต่หลวงพ่อกลับบอกโยมแม่ว่า แม่เฮาบ่เอาแล้วเฮาบ่เหมาะสมกับวัด เฮาชอบความวิเวก เฮาขออยู่อย่างวิเวกต่อไป เฮาจะไปอยู่ที่ป่าเหี้ยว แม่อาง จนทำให้โยมแม่หมดปัญญา ไม่รู้จะขอร้องยังไง ผลที่สุดก็ต้องตามใจหลวงพ่อ วันรุ่งขึ้น หลวงพ่อเกษมก็ออกจากศาลาวังทาน เดินทางไปบ้านแม่อางด้วยเท้าเปล่า เช้ามืดไปถึงป่าเหี้ยวแม่อางก็ค่ำพอดี ฝ่ายโยมมารดาพอกลับมาบ้านก็เกิดคิดถึงพระลูกชาย เพราะเกรงว่าพระลูกชายจะลำบาก จึงออกจากบ้านไปตามหาพระลูกชาย โดยมีคนติดตามไปด้วยชื่อ โกเกตุ โยมแม่สั่งให้โกเกตุ ขนของสัมภาระเพื่อจะไปอยู่บนดอย ของที่เหลือในร้านเพชรพลอยแจกให้ชาวบ้านจนหมดเกลี้ยง ไม่เอาอะไรเลย นอกจากของใช้ที่จำเป็นบางอย่างเท่านั้น
ต่อจากนั้นอีกไม่นานประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงพ่อก็จากป่าช้าแม่อางกลับมาบำเพ็ญภาวนาที่ป่าช้าศาลาวังทานอีกหนึ่งพรรษา ท่านก็เดินทางไปอยู่ที่ป่าช้านาป้อ และกลับมาอยู่ประตูม้า ซึ่งก็คือสุสานไตรลักษณ์ในปัจจุบัน หลวงพ่อเกษมอยู่ป่าช้าศาลาวังทานอย่างสงบสุขได้นานพอสมควร กิตติศัพท์การปฏิบัติธรรมของท่านเลื่องลือไปไกล ทำให้ประชาชนพากันเลื่อมใสศรัทธา ชักชวนพากันมานมัสการท่านอยู่เนืองๆ ป่าช้าที่เคยสงบสุขเริ่มคลาคล่ำไปด้วยผู้คนและเสียงรบกวน ใครรู้ก็อยากไปกราบท่าน อยากนำอาหารไปถวาย ช่วงนี้อายุท่านเริ่มมากขึ้น ชื่อเสียงในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเกษมได้ขจรขจายไปทั่วประเทศ
หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ฝึกฝนตนเองอย่างเคร่งครัด ขณะที่หลวงพ่อมีร่างกายแข็งแรงจะออกบิณฑบาตเป็นวัตร ตามหมู่บ้านใกล้ป่าช้า และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว
หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระที่ขาวสะอาด และเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วประเทศ ศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นพระไม่ติดยึดใคร ต้องการอะไร ขออะไร ไม่เคยปฏิเสธ จนสังขารของท่านดูแล้วไม่แข็งแรง แต่จิตของหลวงพ่อแข็งแรง และท้ายที่สุดหลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านได้ละสังขาร ณ ห้องไอซียู โรงพยาบาลศูนย์ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เวลา ๑๙.๔๐ น. ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ สิริอายุรวม ๘๔ พรรษา ๖๓ ท่านก็ละสังขารไปด้วยอาการอันอย่างสงบนิ่งทิ้งไว้เพียงแรงศรัทธาและความยิ่งใหญ่แห่งพระอาริยังสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ หลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปาง
ส่วนสรีระของท่านนั้นก็ยังความอัศจรรย์ด้วยเนื่องจากไม่เน่าเปื่อยเหมือนอย่างสังขารทั่วไป ทั้งยังเขียนป้ายบอกผู้ที่มาเคารพสรีระ ท่านด้วยว่าให้พนมมือไหว้ที่หน้าอกเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์อย่างศพของพระเถระทั่วไปนับว่าท่าน นั้นถือสมถะเป็นอย่างมาก