หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร
มีนามเดิมว่า กวย ปั้นสน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. พ.ศ. 2448 ปีมะเส็ง ณ หมู่บ้านแค หมู่ 9 ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เป็นบุตรของ คุณพ่อ ตุ้ย ปั้นสน บ้านเดิมอยู่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง และคุณแม่ต่วน เดชมา คนบ้านแค ทั้งสองมีบุตร-ธิดารวม 5 คน
คนที่ 1 ชื่อ นายตุ๊ ปั้นสน (ถึงเเก่กรรม)
คนที่ 2 ชื่อ นายคาด ปั้นสน (ถึงเเก่กรรม)
คนที่ 3 ชื่อ นายชื้น ปั้นสน (ถึงเเก่กรรม)
คนที่ 4 ชื่อ นางนาค ปั้นสน (ถึงเเก่กรรม)
คนที่ 5 หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร (มรภาพเเล้ว)
เมื่อเด็กชายกวยเติบใหญ่ บิดาส่งไปเรียนหนังสือกับหลวงปู่ขวด วัดบ้านแค แต่หลังจากหลวงปู่ขวดมรณภาพลง ได้นำเด็กชายกวยมาเรียนหนังสือขอมและบาลีกับ อาจารย์ดำ วัดหัวเด่น ห่างจากวัดบ้านแคไม่มากนัก จนเชี่ยวชาญหนังสือขอมและบาลีชนิดหาตัวจับยาก จากนั้นเด็กชายกวยได้เลิกเรียนหันมาช่วยทางบ้านทำไร่ไถนาเลี้ยงครอบครัว
ครั้นครบอายุบวชอายุ 20 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบททดแทนคุณบุพการีเฉกเช่นบุรุษชาติอาชาไนยจะพึ่งกระทำ โดยมี พระชัยนาทมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปา วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เเละพระอาจารย์หริ่ง เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. พ.ศ. 2467 เวลา 15 นาฬิกา 17 นาที ณ พระอุโบสถวัดโบสถ์ ต.โพธิ์งาม อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ได้รับฉายาว่า ชุตินฺธโร แปลว่า “โลกนี้มีแต่ความวุ่นวายของโลก หนักไปด้วยกิเลส ตัณหาคือ โลภ โกรธ หลง ทั้งสิ้น หากผู้ใดละกิเลส ตัณหาได้ก็จะถึงฝั่งพระนิพพาน”
วิชาเเหล่-เทศน์ เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
หลังพิธีอุปสมบท หลวงพ่อกวย จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านแค ขณะนั้นมี หลวงปู่มา เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อกวย จึงหัดเทศน์เวสสันดรชาดก กันฑ์กุมาร, ทานกัณฑ์ และมักชอบเทศน์แหล่หญิงหม้าย โดยจะเทศน์กล่าวถึงพระนางมัทรี ตอนที่พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกนอกเมือง ไปบวชอยู่ในป่า หลักฐานในเรื่องนี้คือใบลานเทศน์ต่าง ๆ ที่หลวงพ่อเก็บไว้ เเละบางฉบับท่านได้ประทับตราสิงห์ชูคอเอาไว้ด้วย บางฉบับหลวงพ่อเขียนว่า พระกวยสร้างถวาย หรือพระกวยสร้างส่วนตัว นอกจากนี้มีบันทึกว่า หลวงพ่อ ยังได้ไปศึกษาวิชาแพทย์โบราณกับ หมอเขียน เพื่อเรียนวิชารักษาโรคระบาด หรือโรคห่าเเละ โรคไข้ทรพิษ ด้วย
ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์
ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ท่านได้มาอยู่ที่วัดวังขรณ์ ต.โพธิ์ชนไก่ 2 พรรษา เรียนธรรมโท แต่พอสอบไล่กลับเป็นไข้ไม่สบายจึงไม่ได้สอบ หลวงพ่อกวย จึงฉุกคิดได้ว่าด้านปริยัติธรรมเราก็เรียนมามากพอแล้ว จึงอยากจะหันไปเรียนวิปัสสนากรรมฐานและวิชาอาคมและวิธีทำเครื่องรางของขลังบ้าง คิดได้แล้วจึงไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อศรี วิริยะโสภิต แห่งวัดพระปรางค์ จ.สิงห์บุรี จนเรียนสำเร็จวิชาทำแหวนนิ้ว สังเกตใต้ท้องวงแหวนมักจะตอกอักขระตัวขอมว่า อิติ และท่านยังได้ได้เรียนวิชาอีกหลายอย่างกับหลวงพ่อศรี ยันต์เเรกที่หลวงพ่อสำเร็จเเละมั่นใจมาก คือ ยันต์มงกุฎพระเจ้า ซึ่งหลวงพ่อจะใช้ปลุกเสกพระเเละเครื่องรางต่าง ๆ ท่านจะใช้ยันต์นี้ลงหลัง
เหรียญรุ่นเเเรก บรรจุครบสูตร เเละยังได้ทำเป็นตรายางเพื่อประทับผ้ายันต์เเละรูปถ่ายบางรุ่น เพื่อคุ้มครองเเละช่วยเสริมดวงชะตาราศี จนกลายมาเป็นชื่อยันต์เสริมดวงที่เรียกกันนั่นเอง
นอกจากนี้ หลวงพ่อกวย ยังได้วิชายันต์เเละคาถานะโมตาบอดจากหลวงพ่อศรีด้วย นอกจากใช้จารเครื่องรางเเล้ว ยังใช้บรรจุที่หลังเหรียญรุ่นสอง หลังจากเรียนวิชากับหลวงพ่อศรีสำเร็จ ท่านก็มาจำพรรษาอยู่วัดหนองตาแก้ว ต.โคกช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ที่วัดนี้ หลวงพ่อปลูกต้นสมอไว้ 1 ต้น เคยมีพระภิกษุชื่อ หลวงตาสมาน ไปอยู่วัดหนองตาแก้ว อุ้มไก่แจ้ให้ไปนอนบนต้นสมอ ปรากฏว่าไก่ไม่นอน ทำอย่างไรก็ไม่ยอมนอน คาดว่าหลวงพ่อกวยลงวิชาบางอย่างเอาไว้ ทำให้ไก่หวาดกลัว ขณะนั้นหลวงพ่อกวยเพิ่งอายุ 28 ปี 8 พรรษา แสดงว่าหลวงพ่อ มีอาคมขลังตั้งแต่ยังเป็นพระหนุ่ม ซึ่งต้นสมอนี้ ปัจจุบันยังอยู่เเละไม่มีใครกล้ายุ่งเกี่ยวหรือลบหลู่ดูหมิ่น เพราะกลัวอาถรรพ์ ยิ่งเคยมีพระขึ้นไปตัดกิ่งไม้แล้วมรณภาพยิ่งได้รับการกล่าวขานถึงความขลังมากขึ้น
ได้ตำราดีมาจากโพรงไม้อย่างไม่น่าเชื่อ
ในวันที่ 1 มิ.ย. พ.ศ. 2477 หลวงพ่อกวย จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองแขม ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท อีก 1 พรรษา ได้เรียนแพทย์แผนโบราณต่อกับโยมป่วน บ้านหนองแขม และเรียนแพทย์แผนโบราณต่อกับหมอใย บ้านบางน้ำพระ ขณะพำนักที่วัดหนองแขม ได้มีเพื่อนภิกษุชื่อ แจ่ม ไปพบตำราสมุดข่อยวางในโพรงไม้ แต่เอาออกมาไม่ได้ เพราะตำรามีอาถรรพณ์แรง คล้ายมีเทพและเทวดารักษา จึงชวนหลวงพ่อกวยให้ไปดู หลวงพ่อไปดู พบว่ามีตำราอยู่โพรงไม้จริงและมีรอยคนเอาพวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาจำนวนมาก ท่านจึงจุดธูปอธิษฐานว่า “ถ้าจะให้ข้าพเจ้าเอาตำรานี้ไปเก็บรักษาไว้ ขอธูปที่จุดนี้ให้ไหม้ให้หมดดอก” ครั้งแรกธูปไหม้ไม่หมด หลวงพ่อกวย จึงได้อธิษฐานใหม่ว่า “ถ้าหากว่าท่านจะให้ตำรานี้ให้ข้าพเจ้าเอาไปเก็บรักษาไว้ ข้าพเจ้าจะนำเอาตำรานี้ไปทำประโยชน์แก่วัดและช่วยเหลือ ประชาชนและผู้เดือดร้อน” แล้วก็จุดธูปขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ธูปไหม้หมดทั้ง ๓ ดอก หลวงพ่อจึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของตำราและเก็บตำรานั้นมาศึกษา
เกี่ยวกับตำรานี้ มีการเล่าลือว่า ก่อนหน้านั้นมีคน ๆ หนึ่งนำตำราชุดนี้ไปเก็บในบ้าน เกิดเหตุวิบัติ เจ็บไข้ล้มตาย จึงเอาตำราชุดนี้มาทิ้งไว้ในโพรงไม้จนหลวงก่อกวยนำออกมาศึกษา เมื่อหลวงพ่อเปิดตำราดู พบลายลักษณ์อักษรบอกไว้ในตำราว่า ห้ามเอาไปไว้บ้านใคร ๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นจะฉิบหายตายโหงทั้งโคตร ท่านจึงได้ศึกษาตำรายันต์และคาถาจากตำราเล่มนี้จากนั้นมา
ปัจจุบันตำราเล่มนี้ยังอยู่ที่วัดโฆสิตารามหน้าปกเขียนว่า “ครูแรง” ด้วยหมึกสีแดง นับว่าหลวงพ่อกวยท่านเป็นพระที่ได้ตำราเเปลก ส่วนพระภิกษุเเจ่มที่เป็นคนพาหลวงพ่อไปเอาตำรานี้ภายหลังได้สึกเเละผันชีวิตไปเป็น อ้ายเสือ หรือขุนโจรชื่อดัง เรื่องตำรายันต์ที่หลวงพ่อคัดลอกและเรียนมานี้ ปัจจุบันบางส่วนยังอยู่ที่วัด บางส่วนอยู่ที่ศิษย์หลวงพ่อ เช่น อาจารย์เหวียน มณีนัย บ้านท่าทอง ต.ปากน้ำ อ.เดิมบาง จ.สุพรรณบุรี อยู่ที่วัดท่าทอง อาจารย์โอภาส (มรณภาพเเล้ว) วัดซับลำใย จ.ลพบุรี อาจารย์แสวง (มรณภาพเเล้ว) วัดหนองอีดุก อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
ตำราเก่า สมุดบันทึก ตลอดจนของใช้เก่า ๆที่หลวงพ่อกวยเก็บไว้ บางชิ้นท่านจะห่อปกด้วยกระดาษ เเละมักจะเขียนว่าห้ามทำสกปรก จับถือให้เบามือ เเสดงว่าหลวงพ่อท่านรักข้าวของเเละมีระเบียบ หลวงพ่อไม่หวงของเเต่ไม่ชอบให้ทิ้งขว้าง ตำรายาเเละเลขยันต์ต่าง ๆ ที่จดบันทึกไว้ บางเล่มท่านจะเขียนหน้าปกไว้ ว่า ห้ามหยิบ ห้ามจับ ครูเเรง บางเล่มจะเขียนสั่งว่า เปิดดูจุกตาย
กราบเทพเจ้าแห่งปากน้ำโพ
เมื่อหลวงพ่อกวยออกจากวัดหนองแขม ได้ไปจำพรรษาที่วัดบางตาหงาย อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับ พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เทพเจ้าแห่งเมืองปากน้ำโพ ทั้งวิชาทำ แหวนแขน, ตะกรุด, มีดหมอเทพศาสตรา และอื่นๆ โดยศิษย์ร่วมรุ่นเดียวกับหลวงพ่อที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ๆ ก็คือ หลวงปู่พิมพา วัดหนองตางู อ.บรรพตพิสัย เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชน
วิชาสักยันต์สุดขลังของหลวงพ่อ
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อกวย กลับมาอยู่วัดบ้านแค ได้สักยันต์ให้ศิษย์จนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ขนาดสักกันทั้งกลางวันกลางคืน ใครอยากได้ของดีสมัยก่อนต้องเดินเท้ามาที่วัดลำบากมาก ใครรวยหน่อยก็ขี่จักรยาน หรือหมารถ 2 แถว มากัน ท่านได้จดบัญชีรายชื่อไว้ปรากฏว่ามีคนสักถึง 4 หมื่น 4 พันคน
ต่อมา หลวงพ่อเห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงหยุดสักยันต์ หันมาทำพระเเละแต่เรื่องรางของขลังแจกลูกศิษย์และผู้ศรัทธา เช่น ตะกรุด, มีดหมอ, แหวนแขน ยุคนั้น ข้าวยากหมากเเพง โจรผู้ร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง โดยเฉพาะ เเถวภาคกลางตอนล่าง เเถบนครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี เป็นเเหล่งกบคานของก๊กเสือร้ายหลายกลุ่ม ชาวบ้านเเคอาศัยบารมีหลวงพ่อกวยคุ้มครองครอบครัวเเละทรัพย์สิน ของมีค่าต่าง ๆ จะเอามาฝากหลวงพ่อกวยที่วัด บางครอบครัวหอบลูกเมียมาขอนอนที่วัดเพราะกลัวโจรฉุดคร่า วัวควายก็เอามาผูกในลานวัด
จากคำบอกเล่าของคนเก่า ๆ ย่านบ้านเเค ยืนยันว่า พวกโจร เสือต่าง ๆ ไม่มีใครกล้าลองดีกับหลวงพ่อกวย เพราะเคยมีเสือปล้นชื่อดังจากอ่างทอง พาสมุนล้อมวัดบ้านเเคตอนกลางคืน เห็นวัวควายของชาวบ้านที่ลานวัดมีเยอะมาก เเต่เข้าไปไม่ได้ แค่เดินเข้าเขตวัดก็โดนหลวงพ่อตีด้วยตะพดและโดนเล่นงานจนบาดเจ็บ ต้องรีบพาสมุนกลับไปหมดเเละไม่กล้ามาก่อเหตุแถวบ้านแคอีกเลย นับจากนั้นถ้าเสือปล้นเดินผ่านวัดบ้านแค ต้องยิงปืนถวายหลวงพ่อกวยทุกครั้ง กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อไปจนหลวงพ่อมรณภาพ
ฆาราวาสที่หลวงพ่อเคยเรียนวิชาด้วย
หลวงพ่อเคยเล่าให้หมอเฉลียว เดชมา ฟังสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเคยไปเรียนวิชาเเผนโบราณจาก ครูฟุ้ง ครูจำปี ศิษย์สายหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มีทั้งวิชาถอนของ ถอนคุณไสย เเละวิชาสะเดาะกุมารในท้อง นอกจากนี้ก็เรียนจากครูลุน ครูเพ็ง อาจารย์เเเหล่ม วัดท่าช้าง ศิษย์สายหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ และเรียนวิชาอาบว่านยา วิชาสัก วิชาหินเบา วิชาสักเเละอาบว่านยานี้ ทำให้หลวงพ่อโด่งดังมาก ก่อนที่ท่านจะทำพระเเละเครื่องรางแจกลูกศิษย์
เลื่อนสมณศักดิ์
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2511 หลวงพ่อกวย ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน แต่ท่านไม่ยินดียินร้ายหรือสนใจยังปฏิบัติตัวเรียบง่ายเหมือนเดิม
“ละสังขาร” สิ้นเทพเจ้าลุ่มแม่น้ำน้อย
ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2521 หลวงพ่อได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท หมอได้วินิจฉัยโรค ว่าหลวงพ่อเป็นโรคขาดสารอาหารมานานกว่า 30 ปี เนื่องจากสมัยก่อนข้าวยากหมากแพง หลวงพ่อจึงตั้งสัตย์อธิษฐานฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียว จนร่างกายผ่ายผอมมาก แพทย์ให้สารอาหารประเภทโปรตีนกับหลวงพ่อ เป็นเวลาถึง 1 เดือน ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อยู่โรงพยาบาลได้ไม่นาน ท่านก็กลับวัด เมื่อกลับวัดหลวงพ่อก็ยังได้ฉันอาหารเพียงวันละ 1 มื้อ เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนความตั้งใจและหลวงพ่อยังคงหมกมุ่นในการสร้างและปลุกเสกวัตถุมงคลอย่างต่อเนื่อง
ในต้นเดือน มี.ค. พ.ศ. 2522 หลวงพ่อได้วงปฏิทิน ตั้งแต่ท่านเริ่มมีอาการเจ็บป่วยด้วยหมึกสีน้ำเงิน และวงปฏิทิน วันที่ท่านมรณภาพเอาไว้ด้วยตัวหนังสือสีแดง คือวันที่ 11 มี.ค. และ 11 เม.ย. 2522 พร้อมทั้งเขียน พระคาถา นะโมตาบอด ฝากไว้เป็นอนุสรณ์แก่ลูกศิษย์ เป็นคาถาแคล้วคลาดและกำบัง หลวงพ่อเขียนว่า “อาตมาภาพพระกวย” “นะตันโต นะโมตันติ ตันติ ตันโต นะโม ตันตัน” จะมรณภาพ วันที่ 11 เม.ย. เวลา 7 นาฬิกา 55 นาที
พอวันที่ 11 มี.ค. หลวงพ่อก็ล้มป่วย โดยไม่มีโรคอะไร เพียงแต่ไม่มีกำลัง ฉันอาหารไม่ได้ ไม่ยอมไปโรงพยาบาล มีอาการไข้แทรก เวลาฉันท์ภัตตาหารบางครั้งท่านพ่นข้าวออกจากปาก ไม่ยอมฉัน และจะชอบหยิบแผ่นตะกรุดขึ้นมาจาร บางครั้งก็จับสายสิญจน์ ปลุกเสกวัตถุมงคล กลางคืนก็จับสายสิญจน์ปลุกเสกวัตถุมงคล บางคืนถึงสว่าง ร่างกายของท่านปกติก็ผอมมากอยู่แล้วกลับผอมหนักเข้าไปอีก วันที่ 10 เม.ย. กลางคืนมีศิษย์มาเฝ้าท่านเต็มไปหมด ตอนเช้ายิ่งมาก แต่ท่านก็ไม่มรณภาพ แม้จะผอมมากเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก มีเพียงประกายตาที่สดใสเท่านั้น จนกระทั่งตกกลางคืนท่านก็ไม่ยอมมรณภาพ ค่อนสว่างวันที่ 12 เม.ย. 2522 ทางกรรมการวัดและศิษย์ใกล้ชิดหารือกันว่า สงสัยในกุฏิท่านจะลงอาถรรพณ์เอาไว้ ตลอดจนตำราอักขระเลขยันต์ ตลอดจนรูปครูบาอาจารย์ คงจะไม่มีใครกล้ามารับท่านแน่ อยากเห็นท่านไปดี จึงนำท่านออกมาที่หอสวดมนต์ เมื่อเตรียมที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว อุ้มท่านมาจำวัดที่เตียงที่หอสวดมนต์ ท่านลืมตาขึ้นเป็นการสั่งลา ครั้งสุดท้าย แล้วหลับตาพนมมือเกิดอัศจรรย์ ระฆังใบใหญ่ที่หอสวดมนต์ได้ขาดตกลงมา ดังหง่าง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ดังยาวนาน ศิษย์ที่อยู่ศาลาเข้าใจว่าท่านมรณภาพแล้ว จึงได้ตีระฆัง คือคาดว่ามีคนตีระฆัง เมื่อจับเวลาดู เป็นเวลา 7 นาฬิกา 55 นาที จับชีพจรท่านดู ปรากฏว่าท่านมรณภาพแล้ว ตรงกับวันที่ 12 เม.ย. ซึ่งวันที่ 13 เม.ย. เป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยโบราณ
ทุกวันนี้ทางวัดเเละเหล่าบรรดาศิษย์หลวงพ่อจะยึดเอาในวันที่ 12 เม.ย. ของทุกปี เป็นวันทำบุญ ประจำปีเพื่ออุทิศและระลึกถึงหลวงพ่อกวย
คำพูดซึ้งใจลูกศิษย์
“ขอศิษย์ทั้งหลาย จงอย่าอด อย่าอยาก อย่ายาก อย่าจน อย่าต่ำกว่าคน อย่าจนกว่าเขา”