ชีวิตความเป็นอยู่ของ พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร ช่างน่าสังเวช ทุกข์ลำบากเหมือนกับว่า ในโลกนี้บ่มีใครเท่าเทียมได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกข์และสุขก็เป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ทนลำบากไม่ใช่ตัวตนของเราบังคับไม่ได้ พิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว พึงจะเบื่อหน่ายการเกิด การตาย ทุกข์ในวัฏฏะสงสารพึงสละละวางความยึดมั่น ถือมั่น
ชาติภูมิ
- บิดา-มารดา
- พ่อคำหล้า แม่แสงหล้า ทาแกง
- นามเดิม
- เด็กชายบุญชุ่ม ทาแกง
- วันเดือนปี เกิด
- วันอังคารที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔
- สถานที่เกิด
- หมู่บ้านแม่คำหนองบัว ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- พี่น้อง
-
- ๑. พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
- ๒. พระครูบาวีนัส กตปุญโญ
- ๓. เด็กหญิงเอื้องฟ้า (เสียชีวิต)
- ๔. นางอ้อมใจ ปูอุตรี สมรสกับนายประทีบ ปูอุตรี
ชีวิตในวัยเยาว์
คุณแม่แสงหล้าได้แต่งงานกับคุณพ่อคำหล้า ก่อนตั้งครรภ์พระครูบาเจ้าฯ คุณแม่แสงหล้านิมิตฝันว่า “ได้ขึ้นภูเขาไปไหว้พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่เหลืองอร่ามงามมากนัก” แล้วสะดุ้งตื่นอยู่มาไม่นานนัก คุณแม่แสงหล้าเริ่มตั้งครรภ์ พอตั้งครรภ์ได้ครบ ๑๐ เดือน ก็ได้ให้กำเนิดเด็กชายบุญชุ่ม ซึ่งเป็นเด็กหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู จากนั้นก็มีเหตุแยกจากพ่อคำหล้ากลับไปดูแลแม่อุ้ยนางหลวงที่เคยอยู่ด้วยกัน เพราะไม่มีใครดูแล ส่วนพ่อคำหล้าก็กลับไปดูแลแม่หลวงอุ่น จึงเป็นเหตุให้ต้องแยกกันอยู่ เมื่ออายุครบ ๖ เดือน พ่อคำหล้าได้มาเยี่ยม ซื้อเสื้อผ้ามาฝากลูกด้วย แต่กลับไปไม่นาน คุณพ่อก็ได้ล้มป่วยด้วยโรคบิดกระทันหัน ถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี เท่านั้น เมื่อพระครูบาฯ อายุได้ ๔ ขวบ แม่อุ้ยนางหลวงและคุณแม่แสงหล้าได้ย้ายจากบ้านด้ายไปอยู่บ้านทาดอนชัย ต.แม่ทา อ.สันกำแพง (ปัจจุบันแยกอำเภอออกมาเป็น อ.แม่ออน) จ.เชียงใหม่ และสมรสใหม่กับนายสม ชัยวงศ์คำ มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า เด็กชายวีนัส (แดง) และบุตรหญิง ๒ คน คือเด็กหญิงเอื้องฟ้า ถูกสุนัขกัดตาย เมื่ออายุได้ ๔ ขวบ และเด็กหญิงอ้อมใจ เมื่อแม่อุ้ยนางหลวงได้ถึงแก่กรรมไป
ครอบครัวของเด็กชายบุญชุ่ม ยิ่งลำบากมากกว่าเก่า บ้านก็ถูกรื้อขาย แล้วอพยพไปอยู่เชิงดอยม่อนเลี่ยม ทำกระต๊อบน้อยอยู่กัน ๔-๕ คน แม่ลูก ฝาเรือนก็ไม่มี เวลาฝนตกหลังคาก็รั่ว เอามุ้งขาดเป็นเรือน ผ้าห่มก็มีผืนเดียวเวลาหน้าหนาวก็หนาวเหน็บ ต้องนอนผิงไฟเหมือนสุนัขผ้านุ่งผ้าห่มเสื้อกางเกงก็มีชุดเดียวเวลาไป โรงเรียนก็นุ่งกางเกงขาสั้นไป เรื่องอาหารก็ตามมีตามได้ เก็บกินเต้าแตง เผือกมัน ผักผลไม้กิน เพื่อยังชีพไปวันๆ บางทีแม่แสงหล้าก็ไปรับจ้างเกี่ยวข้าวและปลูกหอม กระเทียม ได้ข้าวมาเลี้ยงกัน วันละลิตร สองลิตร ก็เอามาหุงต้มเลี้ยงกัน วันไหนข้าวมีน้อย ก็เอาต้มใส่เผือกใส่มัน บางครั้งก็ได้กินหัวกลอยต่างแทนข้าว บางครั้งได้กินข้าวกับพริกกับเกลือบ้าง บางทีแม่แสงหล้า ไม่สบายไปรับจ้างไม่ได้ พระครูบาเจ้าบุญชุ่มและน้องๆ ก็เที่ยวขอทาน ห่อข้าว ตามหมู่บ้านมาเลี้ยงดูกัน บางวันก็ได้มากบ้างน้อยบ้าง พอประทังชีวิต บางคนก็ด่าว่าตางๆ นานา บางคนก็ดีใจ บางคนก็ทุบต่อยตีไล่หมาใส่ ท่านก็ไม่ถือสาโกรธแค้น ส่วนพ่อเลี้ยงก็ไม่สบายเป็นโรคบวมพองทำงานไม่ได้
พระครูบาบุญชุ่มบางทีก็ต้องเก็บใบตองไปแลกข้าวบางทีก็หาฟืนไปขาย บางวันก็ไปรับจ้างเก็บถั่วลิสง ได้เงินมา ๑ บาท ๒ บาท ก็เอาไปซื้อข้าว น้ำมันและพริก เกลือมาเลี้ยงครอบครัวถึงแม้ชีวิตท่านจะลำบากเพียงใดก็ไม่เคยเป็นเด็กเกเร ลักเล็กขโมยน้อยเด็ดขาย แม่แสงหล้าจะสอนว่า “ห้ามลักขโมยของคนอื่นมาโดยเด็ดขาด” วันหน้าถ้ามีบุญก็จะสบายได้แล บางวันน้องซนไม่มีใครดูแลพระครูบาเจ้าบุญชุ่มก็ฉีกเอาชายผ้าถุงของแม่ผูกขา น้องๆ ติดกับเสาบ้านเสาเรือนไว้ แล้วก็เที่ยวขอทานมาเลี้ยงแม่เลี้ยงน้อง
เห็นทุกข์ก็เห็นธรรม
ชีวิตความเป็นอยู่ของพระครูบาเจ้าฯ ช่างน่าสังเวช ทุกข์ลำบากเหมือนกับว่า ในโลกนี้บ่มีใครเท่าเทียมได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกข์และสุขก็เป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ทนลำบากไม่ใช่ตัวตนของเราบังคับไม่ได้ พิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว พึงจะเบื่อหน่ายการเกิด การตาย ทุกข์ในวัฏฏะสงสารพึงสละละวางความยึดมั่น ถือมั่น พึงคลาย ความอาลัยในตัณหาตัวนำมาเกิด พึงละอวิชชา ความไม่รู้นำมาเกิดภพชาติ ชรามรณะทุกข์ เวียนว่าย ตายเกิด หาที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายบ่มิได้พึงสังเวชเบื่อหน่ายโลกาอามิสทั้งปวงพึง มีจิตยินดีในพระนิพพานเป็นอารมณ์ รีบขวนขวายหาทางดับทุกข์ ความเกิดแก่เจ็บตาย จงสร้างแต่กุศลบุญทาน รักษาศีลภาวนา อย่าขาด อย่าประมาทในชีวิตสังขารไม่ยั่งยืน ไม่รู้ว่าเราจะตายวันใด ที่ไหน เวลาใด ใครไม่สามารถกำหนดได้ ขอให้ทุกคน เราท่านทั้งหลายจงทำดีให้หนีวัฏฏะสงสารไม่ต้องกลับมาเกิดอีกเพราะการเกิด บ่อยๆ เป็นทุกข์ดังนี้แล
อุปนิสัยฝักใฝ่ในธรรมของพระครูบาเจ้าฯ
เนื่องจากคุณแม่แสงหล้าเป็นคนมีนิสัยใจดีมีเมตตาเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีลูกเต้า ญาติมิตรพี่ๆ น้องๆ เป็นผู้รู้จักบุญคุณเสมอชอบทำบุญไปวัดไม่ขาด ถึงแม้ว่าความเป็นอยู่จะลำบากยากจนขนาดไหน พอถึงวันพระแม่จะจัดหาอาหารตามมีตามได้ไปใส่บาตรทุกครั้ง ก่อนที่คุณยายของพระครูบาเจ้าฯ คือยายแม่อุ้ยนางหลวง ยังไม่เสียชีวิต ดังนั้นเมื่อพระครูบาเจ้าฯ อายุได้ ๔-๕ ปี ก็พาไปนอนวัดปฏิบัติธรรมด้วย ยายสอนว่าให้ไหว้พระสวดมนต์ และภาวนาพุทโธฯ ตั้งแต่เล็กได้คลุกคลีอยู่กับวัดตั้งแต่ตัวน้อยๆ เวลาเข้าโรงเรียนฯ ก็ติดกับวัดเวลาว่างก็ชอบเขาไปไหว้พระในวิหาร บางทีก็ภาวนาตามร่มไม้ ทำอยู่อย่างนี้ตลอดเท่าที่ท่านจำความได้ พระครูบาเจ้าฯ ไม่ชอบทานเนื้อสัตว์มาตั้งแต่เกิด ถ้าจำเป็นต้องท่านก็เอาคำข้าวจิ้มแต่น้ำแกง บางทีก็ทานข้าวเปล่าๆ บางทีก็ทานกับน้ำอ้อย บางทีก็ทานข้าวกับกล้วยไปวันๆ คุณแม่แสงหล้ารักเอ็นดูพระครูบาเจ้าฯ เป็นอย่างยิ่งไม่เคยด่าเคยตีด้วยไม้หรือฝ่ามือแม่แต่ครั้งเดียวในชีวิต
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าชีวิตในวัยเยาว์ของพระครูบาเจ้าฯ จะทุกข์ยากลำบาก แต่ท่านก็เป็นเสมือนเพชรในตม คือจิตใจของท่านที่ได้รับการปลูกฝังคุณงามความดีอยู่เสมอ ทั้งจากคุณยายและจากคุณแม่ จากการคลุกคลีอยู่กับวัด กับพระสงฆ์ จึงทำให้จิตใจของเด็กน้อยรู้สึกผูกพันกับบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ถูกสั่งสอนให้ขยันหมั่นเรียนเขียนอ่าน และสอนให้หมั่นเพียรทำงานทุกอย่าง แม่แสงหล้าจะใช้ไปซื้อของในตลาด บางทีมีเงินบาทเดียวได้ของมาสี่อย่าง ซื้อพริก ๑ สลึง เกลือ ๑ สลึง น้ำมัน ๑ สลึง เมี้ยง ๑ สลึง เป็นต้น เพราะเงินสมัยนั้นมีค่าข้าวสารลิตรละ ๑ บาท ก็พอกินไป ๒ วัน เท่าที่จำได้ตอนโตมาแล้วบางทีโรคลมของคุณแม่กำเริบก็ว่าด่าต่างๆ ด้วยความลืมตัวบ้างเสร็จแล้วพอรู้สึกดีขึ้นคุณแม่จะมาขอขมาลาโทษทุกครั้ง โดยการผูกข้อมือรับขวัญให้ทุกครั้ง
การเดินทางของชีวิตฆราวาส
เมื่อช่วงวัยเด็ก เคยป่วยด้วยพิษไข้มาลาเรีย เกือบเอาชีวิตไม่รอด เป็นช่วงเดียวกับพ่อเลี้ยงก็ป่วยหนักเช่นกัน ตามความเชื่อของชาวเหนือ ถ้ามีคนป่วยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันต้องแยกกันอยู่ ดังนั้นคุณแม่แสงหล้าจึงนำไปฝากไว้กับญาติผู้ใหญ่ คือแม่คำ พ่อคำหล้า ส่วนน้องชาย ด.ช.วีนัสไปอยู่กับคุณป้า น้องสาวไปอยู่กับพ่อก๋อง แม่เพชร ช่วงนั้น ด.ช.บุญชุ่ม ได้พลัดพรากจากญาติพี่น้อง รู้สึกสะเทือนใจร้องไห้ตามประสาเด็กทั่วไป ที่ต้องแยกันอยู่ ด้วยท่านเป็นพี่ชายคนโต เคยดูแลเลี้ยงดูน้องๆแทนแม่เสมอ จึงทำให้รักและผูกพันต่อกันมาก
แม้การดำเนินชีวิตของท่านได้รับความลำบากทุกข์ยากต่างๆ แต่กลับทำให้พระครูบาเจ้าฯ มีความเข้มแข็ง อดทน เป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ดังในช่วงที่ท่านอยู่กับลุงน้อยจันตา มีลูกเลี้ยงของลุงเป็นคนเชื้อสายเขมร รังแก บังคับ ตีต่อย ให้ทำงานหนัก แต่ท่านก็ไม่ถือสาหาความ เพราะท่านผ่านความทุกข์ใหญ่หลวงมามากแล้ว เรื่องแค่นี้ท่านมีความเข้มแข็ง ผ่านพ้นไปได้และมีอยู่วันหนึ่ง หลังจากหยุดพักจากงานและนั่งพักผ่อน ท่านมีนิสัยที่ชอบชุ่มชื่นรื่นเริงจึงขับร้องเล่นซอเมืองเหนืออย่างสบาย อารมณ์ คนงานในบ้านก็โกรธท่านหาว่าเกียจคร้าน เอาก้อนดินใหญ่มาขว้างปาใส่หัวจนเจ็บและมึนงงไปหมด เกือบสลบ แต่ท่านก็ไม่บอกเรื่องที่ถูกคนใช้ทำร้ายให้กับคุณลุง คุณป้า เพราะกลัวคนทำจะเดือดร้อนถูกไล่ออก
ถึงแม่ว่าท่านต้องทำงานหนัก แต่ในเรื่องการเรียนหนังสือท่านก็เอาใจใส่ ศึกษาหาความรู้ จนจบประถมศึกษาปีที่ ๔ ด้วยตั้งใจไว้ว่าถ้าหากเรียนจบแล้วจะบรรพชาเป็นสามเณรทันที กระทั่งเมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรอายุ ๑๑ ปี ได้เข้าศึกษานักธรรมสอบได้นักธรรมชั้นตรี ใน พ.ศ. ๒๕๒๖
สามเณรน้อยใจสิงห์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เข้ามาเป็นเด็กวัด โดยมีพ่อลุงทาเอาไปฝากกับเจ้าอธิการสิน จิรธัมโม วัดบ้านด้ายตอนท่านอายุได้ ๑๑ ปี หลังจากเป็นเด็กวัดได้ 3 ปีจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ท่านชอบสงบอยากบวชตั้งแต่อายุ ๔-๕ ปีแล้ว ในสมัยเป็นเด็กนักเรียนชอบนั่งสมาธิภาวนาไม่สุงสิงกับใคร เวลาว่างก็เดินจงกรมที่สนามหญ้าโรงเรียน จนเพื่อนฝูงว่าท่านเป็นบ้า ใครจะว่าอย่างไรไม่สนใจ ท่านถือว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้า
ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้บวชเรียนตามปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่เยาว์วัย ถึงเวลาท่านก็กำหนดขอขมาลุงและป้าแทนพ่อแม่ แล้วจึงอาบน้ำและนุ่งผ้าขาวในคืนหนึ่ง พอใกล้รุ่งท่านนิมิตเห็นหลวงพ่อปู่องค์หนึ่งแก่ๆ ผมหงอกสักไม้เท้าจากต้นโพธิ์ใหญ่ที่ในวัดเดินเข้ามาห่านแล้วสอนธรรม กัมมัฏฐานให้ภาวนาว่า พุทโธๆและบอกว่าให้หมั่นภาวนาในภายหน้าจะได้เป็นครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งของ คนทั่วไปและมนุษย์โลกทั้งหลาย แล้วท่านครูบาเฒ่าก็เดินลับหายไป พอสว่างก็ได้ไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีบุญยืน ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมีพระครูหิรัญเขตคณารักษ์ วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่จัน เจ้าคณะอำเภอเชียงแสนเป็นองค์พระอุปัชฌาย์ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ตรงกับเดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ วันพฤหัสฯ เวลา ๙.๓๙ น. ได้บวชเสร็จเรียบร้อย มีสามเณรที่บรรพชารวมกันทั้งตำบลสามสิบสองรูป ปัจจุบันเหลือพระครูบาฯเจ้าองค์เดียว
ครั้นเสร็จพิธีบรรพชาแล้วก็กลับมาวัดบ้านด้ายเข้ากรรมฐานภาวนา ๓ วัน เริ่มเรียนสวดมนต์ภาวนาทำกิจวัตรต่างๆ มีล้างบาตรล้างถ้วยล้างชามทำความสะอาดวัด ดายหญ้า ท่านทำทุกอย่างที่ทำได้ในวัด จำเป็นที่สุดคือ การเจริญภาวนา ท่านนอนองค์เดียว นอนในกุฏิที่เก็บกระดูกผีตายชอบอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ พอบวชเป็นสามเณรไม่นานเกือบ ๑ เดือน คนทั้งหลายก็เล่าลือกันว่ามีสามเณรน้อยต๋นบุญถือกำเนิดที่วัดบ้านด้ายธรรม ประสิทธ์ ศรัทธาสาธุชนทั้งหลายก็พากันมาทำบุญขอให้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้ สามเณรบุญชุ่มก็บอกว่า “เราบวชเป็นสามเณรใหม่ยังไม่รู้อะไรสักอย่างให้ตั้งจิตอธิษฐานกันเอาเองเถอะ บางคนก็ขอให้เทศน์สั่งสอน เราก็บอกว่ายังไม่รู้อะไรเลยให้หั่นไหว้พระทำบุญให้ทานรักษาศีลห้าข้อให้ดี และภาวนาพุทโธๆไปก็จะได้พ้นทุกข์”
อารมณ์กรรมฐานโดยพิจารณาอัฐิ
มีหลวงพ่อธุดงค์องค์หนึ่งอยู่อำเภอจุน จ.พะเยา ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้พระครูบาเจ้าฯ เมื่อท่านได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาแล้ว ได้น้อมจิตพิจารณาว่า กระดูกของสัตว์โลกทั้งหลายนั้น นับตั้งแต่เวียนว่าย ตายเกิด ในวัฏฏสงสารนี้ หากนำมากองรวมกัน คงกองใหญ่เป็นภูเขาทีเดียว หากแยกกันก็กระจัดกระจายอย่างที่เห็น กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกเข่าไปอีกทางหนึ่ง กระดูกข้อเท้าไปทางอื่น กระดูกข้อนิ้วเท้าก็กระจัดกระจายไปทางอื่น กระดูกทุกส่วนแยกออกจากกันไปคนละที่คนละแห่ง แล้วก็ผุพังกลายเป็นดินเป็นจุลไป ท่านก็น้อมพิจารณาเข้ามาในกายแห่งตนว่า
(กาโย) เอวํธมฺโม (เอวํภาวี) เอวํ อนตีโตติ
แม้กายนี้ ก็เป็นธรรมดาอย่างนี้
มีภาวะ อย่างนี้
ไม่ล่วงพ้นอย่างนี้ไปได้
ยกกระดูกสามร้อยท่อนเป็นกรรมมัฏฐานให้เห็นชัดแจ้งในสังขารรูปนาม ร่างกายอันเน่าเหม็นนี้ไม่ดีไม่งามเป็นอสุภะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิปัสสนาพิจารณาสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาไม่ใช่ของเขาสักอย่าง เห็นความเกิดความดับของรูปนามสังขารดังนี้แล้วก็ยกจิตขึ้นสู่ยถาภูตญาณทัศนะ เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงทุกอย่าง บังเกิดความเบื่อหน่ายในกองสังขารทุกข์ทั้งหลายอยากจะพ้นไปจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หาทางที่จะหลุดพ้นไปจากสังขารทั้งหลาย แล้ววางเฉยต่อสังขารทั้งหลายไม่ติดข้องยินดีในสังขารทั้งหลาย แล้วมองเห็นอริยะสัจจะธรรมทั้งสี่ให้เห็นแจ้งชัดว่า นี้คือทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์ได้ประสบพบสิ่งที่ไม่ได้รักก็เป็นทุกข์ได้ พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ อยากได้อันใดไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ จึงพึงกำหนดรู้ทุกข์อย่างนี้แล้วให้รู้เหตุที่ให้เกิดทุกข์คือสมุทัยทำให้ เกิดทุกข์ คือ ตัณหา ความอยากได้ทั้งสามคือ กามตัณหาในกามอารมณ์ทั้งหลาย ภาวะตัณหา ตัณหาในภาวะน้อยใหญ่ ความมีความเป็นทั้งหลาย วิภาวะตัณหา ตัณหาในความไม่อยากมีอยากเป็น ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากตัณหาทั้งสามนี้ เมื่อดับตัณหา ความอยากได้ก็ดับทุกข์ทั้งปวง ตัณหาขะยังสัพพะ ทุกขัง ชินาติ ดับตัณหาได้ชนะทุกข์ทั้งปวง แล้วก็มาพิจารณานิโรธ ความดับทุกข์วิราคะไม่ติดข้องด้วยราคะตัณหา ปราศจากไปแล้ว ปฏิสัคโค ความสลัดออกแห่งตัณหาทั้งหลาย นิโรธ ความดับสนิทไม่เหลือ อาจโย มีอาลัยขาดแล้ว วัฏฏะปัจเฉโต ตัดวัฏฏะทั้งสามขาดแล้ว คือกิเลสวัฏฏะ กรรมะวัฏฏะ วิปากวัฏฏะทั้งสามนี้แล นิโรโธติได้ชื่อว่าความดับทุกข์คือพระนิพพานแล้วให้พิจารณาด้วยปัญญาใน วิปัสสนาญาณต่อไป ถึงมรรค คือหนทางอันดับทุกข์ คือมรรคมีองค์แปด คือ
- ๑. สัมมาทิฏฐิ
- ๒. สัมมาสังกับโป ความชอบดำริ
- ๓. สัมมาวาจา ความพูดวาจาชอบ
- ๔. สัมมากัมมันโต มีการงานอันชอบ
- ๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ
- ๖. สัมมาวายาโม มีความเพียรชอบ
- ๗. สัมมาสติ มีระลึกชอบ
- ๘. สัมมาสมาธิ มีความตั้งใจชอบ
ดังนี้ได้ชื่อว่ามรรคมีองค์แปดคือเป็นหนทางอันประเสริฐไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ทางนี้เป็นทางให้ถึงซึ่งความดับแห่งกองทุกข์ในวัฏฏะทั้งหลาย เราพึงทำภาวนาให้รู้แจ้งแล้ว น้อมเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดับความเห็นผิดทั้งหลายอันเป็นปุถุชนอันแน่นหนาไปด้วยกิเลส แล้วน้อมจิตเข้าสู่โลกุตรภูมิแห่งพระอริยะเจ้าทั้งหลาย แล้วมาพิจารณาดูมรรคธรรมที่เราได้บำเพ็ญมาตลอดสืบเนื่องติดต่อกันไม่ขาดสาย รู้ความไม่เที่ยงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก รู้ความจางคลายความกำหนดยินดีในสัพพนิมิตสังขารทั้งหลาย รู้ความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ทุกลมหายใจเข้าออก รู้ความสลัดคืนในกองสังขารทั้งหลายหายใจเข้าออก อยู่น้อมจิตเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ตลอดจึงได้ชื่อว่าเจริญมรรคญาณ ต่อไปให้พิจารณาความดับทุกข์ทั้งหลายเป็นนิโรธญาณผละญาณ แล้วก็ถึง ปัจเจกขณาญาณ พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายเป็นมรรคะสมังคี คือว่าธรรมทั้งหลายมารวมลงกันในที่เดียวคือสติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละธรรมห้า โพชฌงค์เจ็ด อัฐฐังคิกะมรรคะทั้งแปดมาลงรวมกันที่เดียวได้ชื่อว่ามรรคสมังคี แล้วก็น้อมเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ให้แจ้งแล้วให้รู้แจ้งตามสภาวะธรรมที่เป็นจริง แล้วก็มาพิจารณาดูว่าเราได้รู้แจ้งในธรรมหรือยัง ถ้าไม่รู้แจ้งตราบใดก็ละกิเลสไม่ได้ ถ้าตรัสรู้แจ้งแล้วกิเลสธรรมทั้งหลายก็ละได้เองโดยอัตโนมัติไม่ต้องสงสัยเลย ในมรรคผลนิพพานมีจริงทุกอย่างถ้าเราทำจริงต่อมรรคธรรมเราก็จะถึงความดับ ทุกข์ วันหนึ่งเราก็มาพิจารณาดูว่าเราละกิเลสได้เท่าใด เหลืออยู่เท่าใด ดูพระอริยะบ้างก็พิจารณาบ้าง พิจารณาว่ากิเลสมีเท่าใดตัดขาดเท่าใดสุดแล้วแต่บุญวาสนา ปัญญาของใครของมัน ท่านที่มีปัญญาแก่กล้าจึงจะพิจารณาได้ ถ้าบรรลุมรรคขั้นต้นก็มีการตัดกิเลสสังโยชน์ได้สามคือสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นเห็นผิดในกาย วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในธรรมดับไป สีลัพพัตปรามาสความถือศีลไม่มั่นคงลูบคลำศีลก็ดับไป ถ้าได้ถึงสกิทาคาก็กระทำให้ความโลภราคะ โทษะ โมหะ ส่วนที่หยาบๆดับไปถ้าได้ถึงอริยมรรค ที่สามคือพระอนาคามี คือผู้ไม่กลับมาอีก ก็ตัดกิเลสสังโยชน์ได้อีก สองคือกามราคะ ความยินดีในกามราคะดับอย่างสนิท ปฏิฆะความโกรธแค้นพยาบาท ดับสนิท ตรงกับคติธรรมคำสอนของท่านครูบาศรีวิชัยให้เป็นคติว่า อู้ร้อยคำบ่เท่าผ่อครั้งเดียว
ตอบแทนบุญคุณบุพการี
มาย้อนถึงคุณแม่แสงหล้าผู้บังเกิดเกล้าตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนั้นไม่ได้ ยินข่าวคราวว่าคุณแม่ไปอยู่ที่ไหนแห่งหนใด ท่านจึงคิดอาลัยหาแม่เป็นอย่างยิ่ง เห็นคนอื่นเขาตอนบวชมีพ่อแม่ครบอบอุ่นใจ ท่านไม่เห็นพ่อและแม่ทำให้ตื้นตันใจน้ำตาตก แต่ก็อดทนเอา ยังเห็นป้าและลุงดูแลเอาใจใส่ เมื่อคราวที่ท่านได้ไปเทศน์ที่เชียงใหม่จึงให้คนไปสืบเสาะถามหาแม่ พอดีเขาไปเจอแม่นั่งขายกล้วยทอดอยู่ที่ตลาดประตูเชียงใหม่ ได้ถามดูก็รู้ว่าแม่มาแต่งานใหม่กับคนแก่อายุหกสิบกว่าอยู่หลังวัดฟ้อนสร้อย เป็นหมอยาสมุนไพรชื่อว่าพ่อน้อยใจมา ชัยเผือก เขาก็บอกว่าลูกได้บวชเป็นเณรแล้ว มาเทศน์อยู่ที่วัดลอยเคราะห์แม่ก็ดีใจ ตอนกลางคืนแม่และพ่อเลี้ยงคนใหม่ก็มาหาท่าน ท่านก็ดีใจเป็นที่สุด ปลาบปลื้มใจที่ได้พบคุณแม่ แม่ก็ร้องไห้เหมือนกัน ท่านก็ให้ยา และขนมของเล็กๆน้อยๆ หลังจากเทศน์ที่วัดลอยเคราะห์เสร็จแล้วก็ไม่ได้ไปเยี่ยมแม่ที่บ้าน ท่านก็กลับมาอยู่ดอยเวียงแก้วสร้างพระธาตุต่อ และในพรรษานั้นแม่ก็ได้ตามมาอยู่ด้วยเป็นช่วงๆ มาทำอาหารถวายพระ ออกพรรษาท่านก็กลับไปเชียงใหม่ หลังจากสร้างพระธาตุเสร็จนาน ไฟป่าก็ลุกลามมาไหม้วัดกุฏิวิหารที่มุงด้วยหญ้าไหม้เกลี้ยงหมด ท่านได้ย้ายมาอยู่ที่เกาะทะเลสาบเมืองเชียงแสน บ้านห้วยน้ำรากเป็นวัดเก่า ชื่อวัดเกาะป่าหมากหน่อ อยู่ได้ไม่นานก็มีความประสงค์ไปเมืองพงอีก พอไปถึงก็มีคนบอกเล่าว่ามีพระธาตุอยู่บนดอยบนเขา ปรักหักพังเหลือแต่กองอิฐ
การสร้างและบูรณะพระธาตุต่างๆ
ท่านจึงไปจำศีลภาวนาแล้วสร้างพระธาตุขึ้น ชื่อว่าพระธาตุงำเมือง ดอยท้าววัง นั่งเรือไปๆมาๆอยู่ที่เมืองพงนี้เหมือนบ้านเกิด คิดว่าในอดีตชาติคงเคยสร้างบารมีในที่นี้ หลังจากได้สร้าง พระธาตุบ้านป่าข่า พระธาตุงำเมืองเสร็จแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าไปเมืองยอง ไปกราบพระธาตุหลวงจอมยอง กลับมาป่วยเป็นไข้มาเลเรียเกือบตาย จากนั้นท่านได้มาเข้าพรรษาที่วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยมีหลวงปู่ครูบาเจ้าธรรมชัยเป็นองค์รักษาไข้ คุณแม่ก็มาเยี่ยมเยียนตลอดโดยให้น้องชายบวชเณรอยู่ด้วย ในพรรษาที่๕ ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดจอมแจ้ง บ้านกาดขี้เหล็ก ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยมีคุณแม่ย่าคำแปง คุณธนิต นิ่มพันธ์ คุณตุ๊ คุณสมศักดิ์ คุณอุไร และเจ้าพ่อน้อยโสภณ ณ เชียงใหม่ และญาติโยมหลายๆคนเป็นผู้อุปัฏฐากดูแล ในพรรษาโยมแม่ก็มาเยี่ยมถือศีลด้วยบางครั้งบางคราว ท่านไปสร้าง พระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง ต.เมืองพง พม่า และมาสร้างวัดพระเจ้าล้านทอง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ คุณแม่ก็ตามไปเยี่ยมร่วมทำบุญทุกที่ พรรษานี้ท่านอยากมาจำพรรษาที่เมืองพง แม่ย่าคำแปงให้จับฉลาก ๒-๓ ครั้ง ก็จับได้ที่วัดจอมแจ้งที่เดิม ท่านจึงได้มาจำพรรษาที่วัดจอมแจ้งอีกในปีนี้ ท่านมีความสุขอิ่มเอมในพระธรรม อยู่กุฏิวิเวกองค์เดียว ได้อารมณ์กัมมัฏฐานดีมาก เดินจงกรมก็สบาย มีสมาธิตั้งมั่น
ในพรรษาที่๕นี้ ท่านได้เดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดีย ได้นำคณะศรัทธา ญาติโยมไปกราบสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงธรรมจักร สถานที่ปรินิพพาน และสถานที่สำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธบิดา รู้สึกซาบซึ้งมาก จากนั้นได้ไปจาริกแสวงบุญ ณ ประเทศศรีลังกา มีพระธาตุเขี้ยวแก้วและต้นศรีมหาโพธิ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เป็นอย่างยิ่ง โดยมีโยมสุพิศ แม้นมนตรี เป็นผู้บริจาคเงินค่าเครื่องบินให้ ขออนุโมทนาบุญด้วย ท่านได้กลับมาเมืองพงอีกได้สร้าง พระธาตุดอกคำแก้ว แล้วไปเมืองยองอีกครั้งที่สอง ได้ไปสร้างพระธาตุจอมแจ้งเมืองยอง กลับมาสร้างพระธาตุจอมสวรรค์บ้านโป่งเมืองพงอีก
ต่อมา เข้าพรรษาที่๗ ที่วัดเมืองหนองลิ่มคำป่าหมาหน่อบนเกาะทะเลสาบ โดยมีพ่อแหนานเสาแม่นางจันทร์ฟองเป็นผู้อุปัฏฐาก ในพรรษาท่านได้ป่วยเป็นไข้ป่าและทางเดินอาหารได้ลาพรรษามารักษาที่ตึกสงฆ์ โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ ออกพรรษาแล้วท่านได้ไปย่างกุ้งมันตะเล ประเทศพม่า ไปกราบพระธาตุชเวดากอง จากนั้นกลับมาเมืองพง ได้มาสร้างวิหารสร้างพระเจ้านอน
เข้าพรรษาที่ ๘ วัดพระนอน เมืองพง ( ปัจจุบันชื่อวัดจอมศรีดับเพมุงเมือง )ออกพรรษาแล้วได้ทำบุญฉลองวัดวิหารพระเจ้านอนเสร็จแล้วได้รับนิมนต์โดยคุณ แม่ชรัช คุณหญิงกรรนิฐา สายวงศ์ ได้นิมนต์ไปประเทศเนปาล เที่ยวภูเขาหิมาลัยนำพระพุทธรูปไปถวายที่โปรกขลาเนปาล พรรษาที่๙ได้กลับมาจำอยู่ที่วัดนอนเมืองพงอีก ได้ปฏิบัติธรรมมีความสุขที่สุดและได้เดินทางไปๆมาๆที่พระธาตุดอนเรือง ท่านมีความผูกพันกับพระธาตุดอนเรืองที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีมานานนับ ตั้งแต่อายุ ๑๒-๑๓ ปีที่ได้เข้ามาทำกุศลสร้างบุญบารมีในเมืองพง เคยเดินเท้าเปล่ามากราบพักถือศีลภาวนาที่นี้ตลอด ก่อนจะมาพระธาตุดอนเรือง ซึ่งไม่เคยรู้จักและไม่เคยได้ยินชื่อ แค่ได้นิมิตฝันเห็นเจดีย์น้อยตั้งอยู่บนเขาเตี้ยๆ ใกล้แม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ได้มากราบแล้วมีความสุขที่สุด ฝันว่าเราได้ไปอยู่ที่นั้นไม่นานนักจึงได้มากราบจริงๆ เหมือนในนิมิตทุกอย่าง จนกระทั่งถึงพ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านจึงบอกศรัทธาญาติโยมว่าจะสร้างพระวิหารครอบพระธาตุดอนเรือง เมื่อลุถึงวันเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันพุธ เป็นวันวิสาขบูชาได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างพระวิหาร ท่านยินดีที่สุดในปีนี้ อีกทั้งได้ไปศรีลังกาพร้อมหลวงปู่ครูบาธรรมชัย
ในพรรษาที่ ๙ นี้ ท่านอาพาธเป็นไข้มาเลเรียอีก ได้รักษากินยาและทำสมาธิรักษาด้วยจึงหายดี ออกพรรษาแล้วได้ไปแสวงบุญที่เมืองจีน ปักกิ่ง ได้กราบพระธาตุเขี้ยวแก้ว และพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ในเมืองจีน
จาริกธุดงค์ ณ ประเทศเนปาล
ในพรรษาที่๑๐ พระครูบาฯ มีความตั้งใจอย่างยิ่งจะไปจำพรรษาที่ประเทศเนปาลเชิงเขาหิมาลัย โยมมณีรัตน์ โยมพี่เม้ง (วินัย) ได้นิมนต์หลวงปู่โง่น โสรโย ไปส่งท่านด้วย ได้ไปอาศัยอยู่ที่วัดอานันทกุฏิวิหารกาฐมาณฑุ โดยคุณธรรมมา อารีราชได้ไปฝากให้ ท่านได้พบหลวงปู่โลกเทพอุดรที่เนปาล โดยพระครูบาฯนับถือหลวงปู่โลกเทพอุดรเป็นอาจารย์ใหญ่ได้พบที่ข้างกำแพง พระราชวังเก่า หนุมานโดก้ากาฐมาณฑุ เป็นวังเก่าของกษัตริย์เนปาล เล่ากันว่ามีรางน้ำเป็นหิน และมีอักขระศักดิ์สิทธิ์ที่ใครอ่านจบจะมีน้ำทิพย์ไหลออกมา ขณะที่พระครูบาฯ กำลังอ่านอักขระอยู่นั้นปรากฏว่ามีพระเหมือนโยคีกระโดดออกข้างกำแพงวิ่งมาหา ท่าน มีผ้าโพกหัวเกล้าผม หนวดเครายาวรุงรังวิ่งมาจับมือหลวงปู่ นัยน์ตาใสวาววับดั่งแก้วมรกตจึงขอถ่ายรูปไว้ เอาเงินถวายให้ก็ไม่รับ ลักษณะไม่เหมือนโยคีทั่วไป จากนั้นก็มีหมู่นกพิราบหมู่ใหญ่บินวนเวียนมาตรงหน้าหลวงปู่เทพอุดร ไม่นานนักท่านทั้งสองก็หายไปพร้อมกับหมู่นกพิราบ จะพูดมากไปก็กลัวเกินความจริง อย่าพึ่งเชื่อทีเดียว ให้เชื่อผลบุญกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์สอน
ทุกคนกลับกันหมดเหลือแต่ท่านองค์เดียวที่ได้พำนักอยู่กับพระชาวเนปาล มีหลวงพ่ออมฤตานันท์ เป็นเจ้าอาวาสวัดอานันทกุฏิวิหาร มีหลวงพ่อมหากุมารกัสปะและหลวงพ่อมหานามะ มีพระพม่าองค์หนึ่งชื่อ อินทสาระ สามเณรอินเดียชื่อ พุทธวังสะ และท่านไมตรี ทานแต่ผลไม้มันอาลู (มันฝรั่ง) แตงกวา และกล้วยหอมเป็นอาหาร ในพรรษานี้ พระครูบาฯ มีความสุขกับธรรมชาติที่สุด ตอนเย็นสวดมนต์ภาวนาเดินจงกรม แล้วก็เข้าห้องนั่งภาวนาสมาธิต่อ บางทีถึงสว่างก็มี สว่างมาแล้วท่านก็มาทำความสะอดาลานเจดีย์กุฏิวิหาร ศาลาหอฉัน ทำความสะอาดองค์เดียว ถ้าวันไหนมันอาลูหมดก็ลงไปซื้อในตลาด บางวันอากาศดีเสร็จภารกิจ ท่านก็ขึ้นไปกราบเจดีย์สวยัมภูองค์ใหญ่ ตั้งบนยอดเขาท่านก็ซื้อถั่วลิสงเลี้ยงลิง บางทีก็เอากล้วย ข้าวสารเลี้ยง ลิงที่นี่ตัวใหญ่หางยาวมีหลายพันตัวไม่กลัวคน ท่านได้พำนักภาวนาที่นี่ได้อารมณ์กรรมฐานดี สมาธิตั้งมั่นจนกระทั่งออกพรรษา โยมหมอกรวยศรีและแม่ออกสุนิสา ดร.อุดม แม่วิภาวรรณและโยมหมอยรรยงค์ แม่หมอภิราก็ได้มาเยี่ยม
จาริกธุดงค์เข้าป่าหิมพานต์
ด้วยอุปนิสัยของพระครูบาฯ ที่รักธรรมชาติ ชอบอยู่รูปเดียว ปลีกวิเวก เมื่อเสร็จภารกิจต่างๆ ท่านจึงดำริว่า “เราควรออกธุดงค์เข้าสู่ป่าหิมพานต์ตามรอยพระเวสสันดร” ออกพรรษาแล้วท่านได้อำลาเจ้าอาวาสจะเดินทางเข้าป่าหิมพานต์ โดยมีโยมพี่ดร.อุดม ใจดี ได้มานำทางไปส่งที่เมืองโปกขะรา (Pokhara) แปลว่า โปกขรณีอยู่เชิงเขาหิมพานต์ ตรงยอดเขาหางปลาชาวเนปาลเรียกว่ามาชาปุชะเร (Machapuchare) และยอดเขาอานนาปูระนะ (Annapurna) ซึ่งเป็นหลังคาโลกสูงที่สุดเป็นบริวารของภูเขาพระสุเมรุราช ได้ขึ้นรถผ่านแม่น้ำคงคาตรีศุลิ (Trisuli) และภูเขาป่าไม้มีความสุขเพลิดเพลินที่สุด ได้มาถึงเมืองโปกขราตอนเย็น พักอยู่ที่วัดแม่ชี ๓ คืน แล้วจึงเดินทางด้วยเท้าเปล่าต่อไปในป่า ส่วนพี่ ดร.อุดม อยู่ด้วยคืนเดียวก็กลับไปอินเดีย ท่านเดินทางเข้าป่า มีพระหลวงปู่แก่องค์หนึ่ง ชื่อสุภัทรภิกขุนำทาง และชาวบ้านเนปาลอีกคนหนึ่งชื่อว่า โอปกาศและมีผู้ชายหนุ่มเนปาลอีก ๒ คนเดินนำทาง พวกเขารักเคารพพระครูบาฯ มาก ช่วยกันแบกกรดและบาตรให้เดินทางเข้าป่า ผ่านแม่น้ำเย็นใสผ่านหมู่บ้านเล็กๆ เดินไปพักฉันเพลกลางทางที่บ้านหลังเล็กของชาวเนปาลผู้ใจดี แล้วเดินทางต่อไป ถึงที่วัดน้อยของท่านสุภัทรตั้งอยู่เชิงเขาในเวลาเย็น พวกที่ส่งมาก็ลากลับเหลือแต่พระครูบาฯ อยู่กับท่านหลวงปู่สุภัทร ท่านก็เข้ากุฏิหลังน้อยที่ท่านอยู่มีอีกห้องเป็นที่เก็บฟืน หลังจากไหว้พระสวดมนต์ภาวนาแล้วก็อุปฐากพระผู้เฒ่าด้วยการต้มน้ำร้อนถวาย พอรุ่งเช้าท่านก็น้ำพาเราไปบิณฑบาตรได้ข้าวมาฉันเล็กน้อย พออิ่มไปวันๆ พระครูบาฯ อยู่ที่นั้นสามคืน จึงบอกหลวงปู่สุภัทรว่า ข้าพเจ้าต้องการเดินทางเข้าป่าองค์เดียวจะไปอยู่ตามเงื้อมผา และถ้ำ ภาวนาองค์เดียว หลวงปู่สุภัทรบอกว่าลำบาก หิมะก็ตก เส้นทางก็ไม่รู้จัก อีกทั้ง สัตว์ป่า เสือ แรด งูร้ายก็มีมากอย่าไปเลย ท่านห้ามไว้เกรงว่าจะเป็นอันตราย แต่พระครูบาฯ ก็บอกว่า ข้าพเจ้าพร้อมจะสละชีวิตแล้วไม่กลัวตายขอไปจนได้ รุ่งเช้าท่านก็พาไปส่งทางบ้านราจ๊ก ไปพักฉันข้าวบ้านคนแก่หลังหนึ่งถือศาสนาพุทธรักษาศีล ๕ แล้วก็เดินทางไปส่งกลางทุ่งนา ชี้ทางให้ไปองค์เดียว เดินขึ้นเขาหิมาลัยรูปเดียว
ท่านได้แบกกรดบาตรอัฐบริขารองค์เดียวทางเข้าป่าไม้หิมพานต์ด้วยความปีติยินดี ท่านก็บอกเทวดารักษาป่าไม้หิมพานต์ให้นำทางรักษาท่านด้วย โดยตั้งสัจจอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้ามาที่นี้ก็เพื่อปฏิบัติสมณะธรรมพรหมจรรย์สร้างโพธิสัตว์บารมี หวังได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ได้โปรดสัตว์โลกได้ข้ามจากวัฏสงสารให้ถึงพระนิพพาน” ท่านได้เดินขึ้นเขาลงห้วย บางทีก็มีทางลอดไปเป็นอุโมงค์บางทีก็ข้ามแม่น้ำคงคาไปตามทางชาวป่าชาวเขาเนปาล เดินไปตัดไม้ไปบางทีก็ปีนขึ้นหน้าผาสูงชันมาก บางทีก็ห้อยโหนเชือกเครือเขาข้ามแม่น้ำ เส้นทางลำบาก บางทีก็ไม่มีหนทางลัด ตามป่าแม่น้ำไปตามทางเดิน ท่านได้เห็นสัตว์ป่าทั้งหลายเป็นต้นว่าไก่ป่าร้องขานขันนกยูง และหงส์ป่า ได้เห็นลิงและกระต่าย ลิงลมได้ยินเสียงกวางเก้งร้องในป่าได้ยินเสียงเสือร้องทั้งกลางวันและกวางคืน เสือในป่าหิมพานต์ตัวใหญ่ ไปทางไหนเจอแต่รอยเสือใหญ่รอยเท้าเท่าถ้วยชาม ไปทางไหนเจอแต่ขี้เสือ
ท่านก็ไม่หวาดหวั่นเกรงกลัวเดินองค์เดียวเข้าป่าด้วยปณิธานอันสูงสุด เชื่อบุญกุศลยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้แผ่เมตตาแก่สัตว์ทั้งหลายดังชีวิตเรา สัตว์ร้ายก็ไม่เข้ามาทำร้ายท่านด้วยอำนาจแผ่เมตตาจิตของท่าน ถึงแม้ว่างูเขียว งูลาย ตัวน้อยตัวใหญ่มาขวางทางเดิน ท่านน้อมจิตแผ่เมตตาพวกเขาก็หลีกทางให้ทุกครั้ง ท่านเดินจากหมู่บ้านราจ๊กเป็นหมู่บ้านใหญ่หน่อย แล้วเดินเข้าไปในป่าผ่านบ้านของชาวเนปาลสองสามหลัง แล้วเดินไปอีกวันหนึ่งก็ไปถึงหมู่บ้านเล็ก ๔-๕ หลัง ชื่อว่าบ้านมะลาวดี พอไปถึงก็มืดค่ำพอดีได้เดินสำรวจดูก็เห็นบ้านชาวเขาเล็กๆ ตั้งอยู่เชิงเขาเห็นไฟริบหรี่ จึงเดินเข้าไปพอดีหิมะหมอกก็ตก จึงขอพักข้างบ้าน เขาพักกันอยู่ ๓ คนแม่ลูก ชีวิตช่างน่าสังเวชสงสารเหมือนไม่ใช่คน ที่นอนก็เอาฟางมากองแล้วนอนผิงไฟกัน ๒-๓ แม่ลูก ท่านให้ของกิน น้ำตาล ยาแก้ไข้เล็กๆ น้อยๆ เอาแบ่งให้ เขาก็ดีใจใหญ่ เช้าตรู่เขาก็ใจดีหุงข้าวใส่เนยเอามาถวายให้ ฉันเสร็จก็เดินทางเข้าป่า พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งใจดีมาขอนำทางไปส่งเงื้อมผาโควางโกโอฬารหรือโคมุข เป็นต้นแม่น้ำคงคาที่ไหลผ่านเมืองพาราณสีนั้น การสื่อสารก็พูดภาษาเนปาลได้บ้างเล็กน้อย พอรู้เรื่องกัน รู้แต่ไปไหนสบายดีหรือ ทานข้าวหรือยัง เขาก็ใจดีไปส่งถึงเงื้อมถ้ำ ท่านก็ให้หมวกของกินหยูกยาเล็กๆ น้อยๆ เขาก็กลับบ้านลงเขาไป
พระครูบาฯ ได้ไปอยู่ในป่าองค์เดียวภาวนาทำสมาธิแผ่เมตตาอยู่ที่นั้นได้ ๔ คืน ก็เดินทางต่อมุ่งหน้าเข้าป่าลึกไปอีกวันหนึ่ง ไม่มีบ้านคนสักหลัง ทางไปก็ลำบากกว่าเก่า ได้ห้อยโหนกิ่งไม้ขึ้นหน้าผาชันสาวเครือเชือก บางทีก็หลุดตกกลิ้งไปทั้งคนทั้งบาตรอัฏฐะบริขาร กรดกลิ้งตกไปเป็นสามสิบวา ตั้งสติใหม่ยืนขึ้นจนได้ แต่ก็โชคดีไม่เจ็บที่ไหนนึกดูก็น่าสังเวชชีวิตว่าการมาปฏิบัติธรรมนี้ต้องเอาชีวิตเข้าแลกจริงๆ โอ้หนอเราได้มาป่าหิมพานต์องค์เดียวเหมือนฝัน ท่านเดินต่อไปก็เจอรอยหมูป่าและรอยเสือเดินนำหน้าเราไปใหม่ๆ ท่านก็ไม่กลัวแข็งใจเดินต่อไปอีกวันหนึ่ง ไปเจอทางดีหน่อยตรงที่นี่แล ท่านก็สันนิษฐานว่าเป็นภูเขาวงกตอันพราหมณ์ชูชกไปหลงเพราะว่าเห็นเขาสลับซับซ้อนกัน ถึงเดินไปก็หลงทางแน่ๆ ไม่รู้ว่าจไปทะลุเมืองไหน จะทะลุเมืองทิเบตหรือเนปาลก็ไม่รู้ เพราะตรงข้ามเขาไปเป็นเขตประเทศธิเบตแล้ว ท่านได้พักผ่อนภาวนาอยู่ที่นั่นซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำคงคา ข้างบนเขามีน้ำตกใหญ่สูงเป็น ๑๐ กิโลฯ มีแม่น้ำไฟลผ่านที่นั่นหลายสายเป็นทุ่งหญ้ากว้าง พวกสัตว์ป่ากวางเก้งลงเล่นกินน้ำได้ ยินเสียงนกยูงทองร้องขานขัน ไก่ป่า นกนานาชนิด ต้นไม้ที่นี่แปลก ลำต้นใหญ่สูงแลดูงามเหมือนคนปลูกไว้ตั้งต้นเป็นกลุ่มๆ มีดอกสีกลิ่นหอมต่างๆ นานา และผักกาดป่างามเหมือนคนเราปลูกออกตามทุ่งหญ้า ได้เก็บมาต้มฉันจิ้มน้ำพริก และเที่ยวขุดหัวมันลูกไม้ในป่าทานมีความสุขยิ่งนัก
ท่านอยู่กลางเกาะที่นั้นได้เจ็ดคืนเจ็ดวันครบแล้ว เดินสำรวจดูพื้นที่ ภูมิประเทศที่นั้นน่าอยู่ปฏิบัติธรรมจริงๆ สงบราบรื่นเย็นด้วยต้นไม้ดอกนานาชนิด เดินไปเห็นแม่น้ำบางสายมีสีเหลืองเหมือนทอง ทรายในน้ำก็เหลืองเหมือนทอง บางแม่น้ำก็สีเขียว ทรายก็สีเขียว เหมือนมรกต บางแม่น้ำสีแดง บางแม่น้ำสีขาวขุ้น ทรายก็ขาวเหมือนเงินเป็นรมณีย์สถานวิเศษมากนัก เกิดมาไม่เคยเห็นทั้งแม่น้ำห่างกัน ๑๐-๑๒ วา สีก็ไม่เหมือนกันเป็นที่น่าแปลกประหลาดนัก ท่านเดินสำรวจไปองค์เดียวที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เห็นฐานกุฏิศาลาทับซ้อนกันเหมือนคนทำไว้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาศรมบทของพระเวสสันดร เพราะที่ใกล้ๆมีหนองน้ำโบกขรณี ท่านเห็นเป็นแท่งงามมาก ถ้าไม่ใช่ก็คงเป็นอาศรมฤษีชีป่าผู้มีบุญมาสร้างไว้ ท่านเดินไปอีกหวังจะข้ามแม่น้ำคงคาแต่ข้ามไม่ได้ น้ำเชียวเป็นเหวและหน้าผาชันขึ้นไม่ได้ ครั้งแรกคิดในใจว่าจะไม่กลับเมืองคนแล้ว อยากอยู่ในป่าหิมพานต์ที่นี่ ช่างเป็นสถานที่ปราศจากความวุ่นวาย มีแต่ความเงียบสงบ ได้เข้าใจชัดว่าทำไมพระพุทธองค์ จึงสอนให้พุทธบริษัท ที่ต้องการบรรลุคุณวิเศษยิ่งๆขึ้นไป ควรปลีกวิเวกทางกาย เว้นจากหมู่คณะ เพื่อให้เกิดจิตวิเวก เป็นการมองเข้ามาที่จิตตนเองเท่านั้น ก็จักรู้กาย เห็นจิต บรรลุธรรมนั่นเอง คิดว่าได้เดินกลับมาพักกลางเกาะ ได้พบเห็นรอยเสือเอากวางมากัดกินที่นั้นประมาณ ๙ – ๑๐ วัน เห็นกระดูกกระจัดกระจาย ท่านได้ไปยืนปลงกัมมัฏฐาน เอากระดูกเป็นอารมณ์ แล้วแผ่เมตตา กลับมาที่พักเดินภาวนาเดินจงกรมไปๆมาๆ ก็เห็นนิมิตว่า คุณแม่แสงหล้าร้องไห้ตามหาท่าน เห็นตั้ง ๒-๓ ครั้ง ทำให้ท่านคิดถึงอาลัยหาแม่ และเสียงแว่วบอกมาว่าให้กลับไปเลี้ยงดูแลแม่ก่อน วันข้างหน้าค่อยกลับมาใหม่ ท่านนอนที่นั้นอีกคืนหนึ่ง จึงได้เดินกลับออกมาจากป่า ท่านสั่งอำลาป่าหิมพานต์อย่างเสียดายที่สุด ถ้ามีบุญจะกลับมาอีก แล้วเดินออกป่ามา
ขากลับออกป่าดูเร็วมากเหมือนเทวดามาย่นหนทางให้ เดินไม่ถึงวันก็ถึงบ้านชาวเขาเนปาล พักค้างคืนแล้วก็กลับขึ้นเขาไปที่เงื้อมผาอีกครั้งที่สอง อยู่ที่นั้นประมาณ ๙ วัน ภาวนาทานผักกาดป่า บางทีเด็กชาวเขาก็ขุดหัวมันเผาให้กิน พอตกกลางคืนก็ได้ยินเสือร้อง บางคืนมาใกล้ ดมกรดท่านได้ยินเสียงคอมันดังครอกแครก ท่านก็อดทนไม่กลัว ครั้งแรกท่านก็ตกใจบ้าง ตั้งสติได้ก็นึกว่าเราสละชีวิตแล้วจักกลัวอะไร มันอยู่ดูสักพักก็กระโดดไปทางอื่น ท่านอยู่ครบเก้าวันก็เดินทางลงมาพักบ้านหลังเก่า อีกคืนหนึ่งก็กลับมาตามลำน้ำคงคาเจอบ้าน ๒-๓ หลัง ท่านก็เอาเสียม ขุดมันให้เขา รองเท้า ถุงเท้าก็ให้เขา เข็ม ไหม มีดโกน หยูกยาก็เอาให้ตามทางมาตลอด จนในที่สุดก็แจกไม้แคะหูไปจนหมด เดินทางมาถึงบ้านราจ๊ก ที่เดิมบ้าน คนแก่ชาวเนปาลได้เข้าไปพักค้างคืน พอดีมีเด็กชาวบ้านทั้งหลายเห็นท่าน ก็มารุมถามท่านใหญ่ว่ามาจากไหนเป็นอย่างใด ท่านเป็นเทวดาหรือมาองค์เดียว พอดีมีเด็กหญิงชาวเนปาลคนหนึ่ง หน้าตาคล้ายคนเมืองเราเห็นตอนเข้าป่าอ้วนดี แต่เดี๋ยวนี้ผอมไปมาก เขาสงสารเอาน้ำนมควายมาให้ท่านฉัน แล้วก็มาพูดคุยด้วยพร้อมกับเด็กทั้งหลายราว ๓๐ กว่าคน ทั้งคนเฒ่าคนแก่วิ่งกันมาดูใหญ่ บางคนถามว่าไม่อยากได้ผู้หญิงหรือ บางคนก็ถามว่าท่านรูปงามอย่างนี้อยากได้เป็นลูกเขย ท่านก็ไม่สนใจ เพราะเหนื่อย ถ้าไม่เหนื่อยมากคงเดินขึ้นเขาไปเลยเพื่อตัดความรำคาญ และบอกว่าเป็นพระไม่มีลูกเมีย มีหน้าที่ภาวนาอย่างเดียว คนพวกนี้ก็เหมือนชาวเขาบ้านเรา เหมือนชาวอีก้อมูเซอเขาไม่รู้จักพระจักเจ้า เข้ามาใกล้จ้องมองดูแล้วก็หนีไป พวกคนเฒ่าคนแก่ บางคนก็ไม่รู้เรื่องอะไร เขาอยากได้ท่านเป็นหลานเขย จะจับแต่งงานกับหลานสาวคนที่เอานมควายมาให้ฉัน นึกๆดูก็ขำขันน่าสังเวชชาวป่าชาวเขาไม่รู้อะไร เขาเตรียมอาหารเลี้ยงแขก ท่านก็นั่งภาวนาอยู่นอกบ้านข้างฝาเรือน วันรุ่งขึ้นสาวชาวเขาคนนั้นก็แต่งตัวตามประเพณีชาวเขาเนปาลมา ท่านก็ไม่สนใจ ได้เวลาเขาเรียกท่านเข้าไปในบ้าน แล้วให้หลานสาวเขาทำอาหารให้ใส่บาตร มีข้าวต้มแกงถั่วดาลและหัวไชเท้า คลุกพริกคลุกเกลือ เมื่อฉันเสร็จก็ออกมาล้างบาตรเก็บกรดบริขาร แล้วก็แอบกระโดดหนีจากบ้านหลังนั้นโดยปลอดภัย โดยอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากต่อไปจะได้เป็นโพธิสัตว์จริงแล้วขออย่าให้ใครเห็นเรา อย่าสนใจเรา รีบออกจากหมู่บ้าน ว่าแล้วก็เดินออกไปไม่มีใครเห็นและสนใจเรา แม้แต่เด็กตักน้ำข้างทางก็ไม่เห็นเรา หมู่บ้านหมู่บ้านราจ๊กนี้เหมือนบ้านยักษ์เพราะเห็นเขาฆ่าควายสดๆ เอาขันไปรองเลือดมาดื่มกินกันสดๆ ทั้งหญิงและชาย เห็นแล้วน่ากลัวผู้หญิงแก่คนหนึ่งถือขันเต็มไปด้วยเลือด แล้วมาดูเราแลบลิ้นใส่ดูแล้วเหมือนผีกระสือคงหิวอยากกิน ท่านก็ได้พูดไปแล้วไม่น่าเชื่อว่ามีอย่างนี้
ขณะที่เดินกลับมาที่อาศรมบทวัดเล็กๆ ของหลวงปู่สุภัทร แต่ไม่เจอจึงถามดู ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ก็รู้ว่าท่านไปรับเสด็จท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน) ได้เสด็จมาเนปาล จึงได้บอกแก่ชาวบ้านเนปาลผู้ชายกลางคนเจ้าของบ้านว่า อยากอยู่ตามป่าตามเขา เขาก็นำไปส่งในป่าชื้นเขาไปไกลลึกเจอแต่รอยเสือขี้ตลอดทาง แล้วก็บอกเขากลับบ้านก่อนเพราะจะค่ำแล้วเขาจึงกลับไปโดยได้ให้กระติกน้ำและของเล็กๆน้อยๆ มอบให้เขาเป็นการตอบแทนแล้วเดินเข้าป่าองค์เดียว ไปเจอคนแบกฟืนบอกว่าให้ท่านกลับเพราะมืดค่ำเสือชอบมาเที่ยวหาล่าเหยื่อ แต่ท่านได้เดินย้อนมาท่งเดิม เห็นกระต๊อบชาวบ้านสองหลังจึงเข้าไปทักทายถามดู เขาก็บอกว่าข้างล่างนี้มีบ้านกระต๊อบร้างอยู่หลังหนึ่ง เขาจึงพาเข้าไปดูและชอบมากมีประตูปิด – เปิดตรงช่องหน้าต่างมีรูปลายดอกไม้แกะสลักแบบบ้านเนปาล หลังคามุงหญ้าคามีสองชั้นๆบนคงไว้เก็บของและปรุงอาหาร เพราะชาวเนปาลชอบทำห้องครัวปรุงอาหารบนหลังคาแปลกดี ท่านได้เข้าไปสำรวจดูที่อยู่ก็สบายดี ฝาเรือนก่อด้วยหินโบกด้วยดินเหนียวแบบเนปาล ได้เข้าไปแผ่เมตตาหยาดน้ำ แล้วไหว้พระสวดมนต์ทำสมาธิ แล้วออกมาเดินจงกรมมองดูยอดภูเขาหิมาลัยเห็นชัดเจน ตอนเย็นดูเหมือนแท่งเงินเป็นฉากงามที่สุด ค่ำแล้วท่านก็พักจำวัตรพอรุ่งเช้าไหว้พระสวดมนต์ภาวนาหยาดน้ำ แล้วก็เดินจงกรมเสร็จแล้ว ก็มาก่อไฟต้มข้าวใส่เกลือพริก เม็ดถั่วเหลืองที่ชาวเนปาลเขาเอาถวาย บางคนก็เอาผักกาด เอาฟักทองมาให้เขาสงสารท่านทั้งที่เป็นชาวฮินดู ยังรักเมตตาท่านเพราะอาศัยบารมีธรรมเมตตาแห่งสมเด็จพ่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และยึดมั่นในศีลสัจจะบารมีไปที่ไหนแห่งหนใดก็ไม่อดตาย ท่านได้จำศีลภาวนาที่นี้ได้สิบห้าวันพอดี วันหนึ่งมีเด็กหญิงชาวเขามาเก็บฟืนและผักกาดที่อยู่ใกล้ๆท่าน มาขับร้องเพลงภาษาเนปาล ท่านห้ามแต่เขาไม่ฟัง จึงแกล้งเอาก้อนหินขว้างไปทางอื่น เขาก็หนีไป ตอนกลางคืนไหว้พระสวดมนต์ภาวนาตลอดจนรุ่งแจ้ง มีความสุขปีติที่สุดจนน้ำตาไหล ตอนใกล้แจ้งท่านนิมิตเห็นพระพุทธเจ้ายี่สิบแปดพระองค์ได้มาโปรดท่านเหาะลงจากยอดภูเขาหิมาลัยมา ยกพระหัตถ์โปรดเมตตาท่านพระครูบาฯ ทุกๆพระองค์แล้วก็หายไป
ชดใช้วิบากกรรมในอดีตชาติ
คืนต่อมาได้นั่งภาวนาตลอดแจ้งอีก ตอนใกล้รุ่งนิมิตว่า ชาติก่อนได้เกิดเป็นเจ้าเมืองเนปาลมีลูกเมียที่นี่ เคยบังคับทุบตีชาวบ้านให้ทำถนนสร้างปราสาท ใครไม่ทำก็จับขัง ด้วยผลกรรมนี้มาตามสนองท่านจึงรู้ว่าวันพรุ่งนี้ท่านจะโดนเขาทุบตีมัดลากลงเขา เอาท่านไปขังคุกแน่นอนท่านสังเวชในกรรมเก่าของตนทำให้น้ำตาไหลอาบหน้า แต่ก็อดทนภาวนาปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา พอรุ่งแจ้งวันนั้นท่านสวดมนต์ภาวนาเดินจงกรม แล้วก็ไม่หุงข้าวทาน มานั่งอยู่กลางแจ้ง ภาวนาพิจารณาธรรมความเกิดความดับของสังขาร มีสมาธิตั้งมั่นทั้งวัน รอดูว่าจะมีใครมาจับบ้าง วันนั้นเป็นวันชะตาขาดจริงๆลูกประคำก็ขาดวันนั้น เล็บมือออกดอกก็สุดวันนั้น ไฟจุดไต้ก็หมดวันนั้น ตอนเย็นท่านเดินจงกรมแล้วจวนพลบค่ำไม่มีไฟจุดบูชาพระมองเห็นไฟริบหรี่ของกระต๊อบน้อยแห่งชาวบ้านข้างล่างภูเขา ท่านจึงลงไปเพื่อขอจุดไฟ ตอนลงไปไม่เห็นมีใครในกระต๊อบ ก็เห็นแต่ก่อกองไฟคนไม่มีจึงเข้าไปจุดไฟ พอออกมาเห็นผู้ชายฉกรรจ์ประมาณยี่สิบคนเข้ามารัดท่าน แล้วทุบตีต่อยล้มไปตอนนั้นก็เป็นไข้ด้วย บอกเขาว่าทำไมจึงตีอาตมาๆ ขอกลับบนเขาก่อน บาตรผ้ากรดอยู่บนเขา เขาก็ไม่ยอม ได้แต่ถือกาน้ำหยาดศักดิ์สิทธิ์อันเดียวไม่ยอมปล่อยมาคิดดูก็รู้ว่ากรรมจริงๆ ที่มีนิมิตรเห็นกลางคืนนั้นตรงเหมือนกันทุกอย่าง เขาก็ซ้อมตีต่อยแล้วก็เอาเชือกมาผูกมัดไขว้หลัง แล้วก็ลากลงเขาไปเท้าก็ถีบด้วย ต้องอดทนที่สุด ไม่โกรธไม่แค้นนึกในใจว่าขอสละชีวิตบูชาพระพุทธเจ้าคงจะตายคราวนี้แน่ๆ จึงทำกัมมัฏฐานเดินภาวนาไปด้วย เขาลากตีต่อยเจ็บไปทั่วร่างกายช้ำหมดทั้งตัว ถูกลากลงมาสักพักมีผู้ชายคนหนึ่งใจดีสงสารท่าน เขาก็ปล่อยแก้เชือกข้างหลังให้ แล้วพาท่านลงไปเทวาลัยที่บวงสรวงบูชายันต์เจ้าแม่กาลี ในใจคิดว่าเขาจะเชือดคอที่นี้เป็นแน่ ครั้งแรกเขาจะฆ่าแล้วแต่พอดีมีคนหนึ่งห้ามไว้ให้เอาไปขังไว้ก่อนเขาจึงมัดจูงท่านมาที่บ้านมีคุกขังข้างในเป็นขี้ควายหมด เขาก็ไม่สงสารทุบตีแล้วก็ผลักหลังเข้าคุกเชือกผูกไชว้หลังก็ไม่แก้ออก ท่านล้มเอาหน้ามุดเข้าขี้ควาย เหมือนตายทั้งเป็นแต่ก็ตั้งสติได้พยายามลุกขึ้นลำบากมากเพราะมือก็ถูกมัดจนแน่นเลือดก็ไหล ท่านพยายามลุกได้แต่เขาก็ล็อคกุญแจ สองชั้นฝาเป็นหิน หลังคาก็มุงหินประตูไม้กระดานหนามาก ท่านจึงไหว้พระสวดมนต์ไหว้ระลึกคุณพระพุทธเจ้าทั้งหลายและสวดธรรมจักรทุกบท ในบทสุดท้ายท่านคิดถึงคุณพ่อคุณแม่แล้วสวดคาถาไหว้แม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ นโมไต่ซือ ไต่ปุย กิ่วโอ่ว กิ่วหลัง กวงไต๋เสียงถ้ำ กวนสีอิมพ่อสัก แล้วอธิษฐานว่าถ้าไม่ถึงเวลาจะตายยังจะได้โปรดสัตว์ต่อ ก็ขอให้เชือกที่ผูกแขนด้านหลังหลุด ทันใดอัศจรรย์ก็เกิดขึ้นเหมือนมีคนมาแก้เชือกหลุดเป็นบ่วงไว้ทันที ท่านก็สวดคาถาพระแม่กวนอิมอีก ยามนั้นพลังมหาศาลได้เกิดขึ้นจนสามารถพังประตูคุกออกแตกเป็นเสี่ยงๆประตูพังยับเยิน บานพับหลุดออกหมดตกลงไปข้างล่างคนถือปืนนอนเฝ้าประตูตกใจ พากันวิ่งมาดูท่านก็ล้วงเอาหนังสือเดินทางที่พระสังฆราชเนปาลท่านเขียนไว้ให้ ความว่า “ใครได้พบปะเณรองค์นี้มีเหตุไม่สบายให้นำส่งวัดอานันทกุฏีวิหาร” เขาได้อ่านก็ตกใจกลัวเข้ามาขอขมาลาโทษท่าน แล้วก็รีบนำส่งที่วัดเมืองโบกขรา แล้วคุณโอปกกาศชาวเนปาลที่รักชอบนับถือเหมือนพี่ชาย ท่านได้นำรถมาส่งที่กัฏมันฑุวัดอานันทกุฏีวิหารที่ท่านจำพรรษา
พระครูบาฯ เป็นไข้บอบช้ำไปทั้งตัวได้พักรักษาตัวอยู่ในวัด เจ้าอาวาสก็ใจดีเอายามาทาให้ พระเณรทุกองค์สงสารและเห็นใจท่านมาก คืนวันหนึ่งตอนตีสอง ท่านได้ยินเสียงคนร้องไห้ตีกลองเป่าหอยสังข์ เมื่อได้เดินจงกรมแล้วก็ลงไปดูตามเสียงก็เห็นเขากำลังเผาศพกันที่ใกล้วัด จึงเข้าไปช่วยเก็บฟืนเผาศพเพราะเป็นลามะ (พระธิเบต) มรณภาพ เสร็จแล้วมาขอผิงไฟด้วย แต่พวกขี้เมาไม่พอใจก็เข้ามาตีต่อยปากเราแตกเลือดไหล ช่างเป็นคราวเคราะห์กรรมซัดจริงๆ ท่านล้มนอนหงายเขากระทืบซ้ำอีก พอดีท่านหลวงพ่อมหานามะ ได้ยินเสียงลงไปห้ามแล้วนำกลับมาวัด พระครูบาฯ เป็นไข้ทรุดลงเรื่อยๆ จนเจ้าอาวาสว่าหากจะตายจริงก็จะเผาเอากระดูกเก็บไว้ให้ญาติ แต่มาคิดได้จึงโทรกลับมาเมืองไทยบอกพ่อประดิษฐ์และหลวงปู่โง่นให้ไปรับกลับพร้อมคุณมนัส ทั้งสามคนจึงได้บินจากเมืองไทยไปรับกลับมา ในตอนนั้นท่านก็ยังเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมองด้วยจนเพ้อไปไม่รู้สึกตัว
เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยก็ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพร่วมเดือนเศษแล้วก็กลับมารักษาต่อที่วัดอีก แต่ไม่หายดีจึงได้ไปรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสวนดอกเชียงใหม่อีกสองเดือนจึงหายเป็นปกติ
พิธีอุปสมบท
พอถึงเดือนวิสาขะวันที่ ๑๑ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ โยมแม่แสงหล้าและพ่อน้อยใจมาและลูกศิษย์ทุกคนก็จัดพิธีอุปสมบทให้ในวัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พัทธสีมาในโบสถ์วิหารพระเจ้าเก้าตื้อเชียงใหม่ มีคนคณะศรัทธามาร่วมเต็มวัด ทำให้ปลื้มปีติยินดีมาก ได้เข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ตรงกับเดือน ๘ เหนือขึ้น ๑๑ ค่ำวัน เวลา ๙.๑๙ น. ในโบสถ์วิหารพระเจ้าเก้าตื้อ พระราชพรหมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นองค์อุปัชฌาย์ พระครูเวสุวันพิทักษ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระครูศรีปริยัตินุรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระสงฆ์ร่วมหัตถบาทยี่สิบเก้าองค์ พระครูบาเจ้าบุญชุ่มได้ให้ศีลให้พรคุณแม่แสงหล้าและศรัทธาทั้งหลายแล้วก็ได้ไปเข้ากรรมภาวนาที่วัดอุโมงค์เชียงใหม่เจ็ดวัน แล้วได้กลับไปที่เมืองพงจำพรรษาที่วัดพระเจ้านอนบ้านทุ่งในปีนี้ คุณแม่แสงหล้าก็มาเข้าพรรษาถือศีลด้วย ท่านดีใจที่สุดได้อยู่ใกล้โยมแม่นำพาแม่ไหว้พระสวดมนต์ภาวนา ตอนอยู่ที่เนปาลนึกว่าจะไม่ได้เห็นหน้าโยมมารดาอีกแล้ว ท่านได้กลับมาดูแลแม่เหมือนในนิมิตบอกทุกอย่าง ได้ปลูกบ้านหลังน้อยๆ ให้คุณแม่อยู่ที่บ้านห้วยน้ำราก ได้สร้างเจดีย์พุทธรูปวิหารทุกอย่างก็ได้ลงชื่อคุณแม่แสงหล้าหมด หลังจากบวชเป็นพระได้สามพรรษา พ่อน้อยใจมา ชัยเผือกก็ถึงแก่กรรมไป ท่านและคุณแม่ก็จัดพิธีศพอย่างดี ทำบุญอุทิศให้ทุกอย่าง โยมแม่กลับมาอยู่บ้านหลังน้อย บ้านห้วยน้ำรากด้วยความผาสุข ท่านดูแลตามใจแม่ทุกอย่างเอาใจใส่ตลอด บางครั้งก็ชวนโยมแม่มาอยู่วัดถือศีลภาวนาในพรรษาบำเพ็ญกุศลภาวนาไม่ขาด คุณแม่เป็นห่วงท่าน และน้องๆทุกคน พระครูบาฯ มีน้ำใจกว้างขวางดูแลญาติพี่น้อง ใครมาขอให้ท่านช่วยเหลือท่านก็ให้เงินใช้จ่ายตามสมควร เวลาญาติพี่น้องมาวัดจะไม่มามือเปล่าจะเตรียมอาหารผักผลไม้มาทุกครั้งที่ขาดไม่ได้ก็คือยาหอมเป็นขวดของวัดโพธิ์กับมะนาวมาถวายท่านทุกครั้งบางทีก็ทำอาหารถวายผักกาดจอ น้ำพริกตาแดงทำถวายพระเณร คุณโยมแม่ใจบุญที่สุด เป็นห่วงท่านมากในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ท่านได้พาโยมแม่ไปกราบสังเวชนียสถานที่อินเดีย ท่านดีใจที่สุดในชีวิตได้ตอบบุญคุณท่านจนสุดยอด ได้พาไปกราบสถานที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ปฐมเทศนาและที่ดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าท่านเป็นอุตะมะบุตรผู้โปรดพระแม่มารดาโดยแท้ และปกติตลอดเวลาช่วงเข้าพรรษา ท่านจะไปบำเพ็ญศีลภาวนา ณ พุทธสถานสำคัญหลายแห่ง ได้สัมผัส “ธรรมนิมิต” มากมาย ระหว่างที่เป็นสามเณรและพระสงฆ์ จึงขอลำดับการจำพรรษาและพุทธศาสนสถานที่ท่านได้สร้างไว้มากมายดังต่อไปนี้
ลำดับการจำพรรษาตอนเป็น สามเณรบุญชุ่ม ทาแกง
พ.ศ. ๒๕๑๙
- พรรษาที่ ๑ จำที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน
- พรรษาที่ ๒ จำที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน
- พรรษาที่ ๓ จำที่วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน
- พรรษาที่ ๔ จำที่วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- พรรษาที่ ๕ จำที่วัดจอมแจ้งบ้านกวดขี้เหล็ก อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
- พรรษาที่ ๖ จำที่วัดจอมแจงที่เดิม
- พรรษาที่ ๗ จำที่วัดเมืองหนอมป่าหมากหน่อ บ้านห้วยน้ำราก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- พรรษาที่ ๘ จำที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอนเมืองพง พม่า
- พรรษาที่ ๙ จำที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอนเมืองพง พม่า
- พรรษาที่ ๑๐ จำที่วัดอนันทกุฏีวิหาร กรุกัฏมันฑุ ประเทศเนปาล รวมปีที่บรรพชาเป็นสามเณรทั้งหมด ๑๐ พรรษา
ผลงานศาสนสถานต่างๆ
พ.ศ. ๒๕๑๙ จำพรรษาที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน
- ได้สร้างพระวิหารวัดบ้านด้ายและกุฏิสงฆ์ ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๕๒๐ จำพรรษาที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน
พ.ศ. ๒๕๒๑ จำพรรษาที่วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน
- ได้สร้างพระธาตุดอยเวียงแก้ว ตำบลศรีดอนมูล
- ได้สร้างพระธาตุงำเมืองท้าววังนั่ง ตำบลเมืองพง พม่า
พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- ได้สร้างพระธาตุดอยดอกคำ ตำบลเมืองพง พม่า
- ได้สร้างพระธาตุจอมยอง เมืองยอง พม่า
- ได้สร้างพระธาตุจอมสวรรค์บ้านโปร่ง และดอยเวียงหว้า ตำบลเมืองพง พม่า
พ.ศ. ๒๕๒๓ จำพรรษาที่วัดจอมแจ้งบ้านกวดขี้เหล็ก อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
- ได้สร้างศาลาและแท่นแก้วพระธาตุจอมพง พม่า
พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษาที่วัดจอมแจ้งที่เดิม
- ได้สร้างพระธาตุจอมศรีดับเภมุง เมืองพง พม่า
พ.ศ. ๒๕๒๕ จำพรรษาที่วัดเมืองหนอมป่าหมากหน่อ บ้านห้วยน้ำราก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ได้สร้างพระธาตุวัดพระเจ้าล้านทอง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๒๖ จำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอน เมืองพง พม่า
- ได้สร้างศาลาเก้าห้องและกุฏิสงฆ์ วัดพระนอน วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุง พม่า
พ.ศ. ๒๕๒๗ จำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอนเมืองพง พม่า
- ได้สร้างวิหารพระเจ้านอน เมืองพง พม่า และสร้างแท่นแก้ววัดแม่คำบัว แท่นแก้ว พระเจ้านอนวัดพระธาตุ จอมศรีดับเภมุงเมือง บ้านทุง พม่า
พ.ศ. ๒๕๒๘ จำพรรษาที่วัดอนันทกฏิวิหาร กรุกัฏมันฑุ ประเทศเนปาล
- ได้สร้างพระวิหารพระธาตุดอนเรือง พม่า และสร้างแท่นแก้ว วัดปากว๋าว ตำบลห้วยไคร้
พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ ประเทศเนปาลในครั้งนี้ ได้รับเมตตาธรรมจาก หลวงปู่โง่น โสรโย จ.พิจิตร ไปส่งที่สนามบิน ได้พบพุทธศาสนิกชนในต่างแดน ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างขัดสนและมีวิถีชีวิตแปลกๆ ท่านได้แผ่เมตตาและแนะนำให้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และเสริมสิริมงคลแก่ชีวิตสืบไป
ลำดับการจำพรรษาหลังการอุปสมบท
- พ.ศ. ๒๕๒๙ พรรษาที่ ๑ จำที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอน เมืองพง พม่า
- พ.ศ. ๒๕๓๐ พรรษาที่ ๒ จำที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า
- พ.ศ. ๒๕๓๑ พรรษาที่ ๓ จำที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า
- พ.ศ. ๒๕๓๒ พรรษาที่ ๔ จำที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า
- พ.ศ. ๒๕๓๓ พรรษาที่ ๕ จำ ณ สวนพุทธอุทยาน ใกล้พระธาตุดอนเรือง
- พ.ศ. ๒๕๓๔ พรรษาที่ ๖ จำ ณ ห้วยดอนเรือง ใกล้พระธาตุดอนเรือง
- พ.ศ. ๒๕๓๕ พรรษาที่ ๗ จำ ณ ดอยป่าไม้เปา ใกล้พระธาตุดอนเรือง
- พ.ศ. ๒๕๓๖ พรรษาที่ ๘ จำ ณ ถ้ำห้วยรัง บ้านมูเซอ จ่ากู่
- พ.ศ. ๒๕๓๗ พรรษาที่ ๙ จำ ณ ถ้ำห้วยรัง บ้านมูเซอ จ่ากู่
- พ.ศ. ๒๕๓๘ พรรษาที่ ๑๐ จำ ณ ถ้ำห้วยรัง บ้านมูเซอ จ่ากู่
- พ.ศ. ๒๕๓๙ พรรษาที่ ๑๑ จำ ณ ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง ระหว่างเมืองแฮะ-เมืองขัน
- พ.ศ. ๒๕๔๐ พรรษาที่ ๑๒ จำ ณ ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง ระหว่างเมืองแฮะ-เมืองขัน เขตหว้าแดง
- พ.ศ. ๒๕๔๑ พรรษาที่ ๑๓ จำ ณ ถ้ำผาจุติง ประเทศภูฐาน
- พ.ศ. ๒๕๔๒ พรรษาที่ ๑๔ จำ ณ ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง ระหว่างเมืองแฮะ-เมืองขัน เขตหว้าแดง
- พ.ศ. ๒๕๔๓ พรรษาที่ ๑๕ จำ ณ ถ้ำน้ำตก เมืองแสนหวี สีป้อ ชายแดนพม่า กับประเทศจีน
- พ.ศ. ๒๕๔๔ พรรษาที่ ๑๖ จำ ณ ถ้ำน้ำตก เมืองแสนหวี สีป้อ ชายแดนพม่า กับประเทศจีน
- พ.ศ. ๒๕๔๕ พรรษาที่ ๑๗ จำ ณ ถ้ำผาจุติง ประเทศภูฐาน
- พ.ศ. ๒๕๔๖ พรรษาที่ ๑๘ จำ ณ กองร้อยทหารตระเวณชายแดน เมืองปูนาคา
- พ.ศ. ๒๕๔๗ พรรษาที่ ๑๙ จำ ณ กองร้อยทหารตระเวณชายแดน เมืองปูนาคา
- พ.ศ. ๒๕๔๘ พรรษาที่ ๒๐ จำ ณ ถ้ำผาแดง บ้านล่อม ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
รวมจำนวนพรรษาที่บวชเป็นพระภิกษุทั้งหมด ๒๐ พรรษา
พระพุทธรูปและศาสนสถานที่ได้สร้างไว้
พ.ศ. ๒๕๒๙ จำพรรษาวัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอน เมืองพง (พม่า)
- สร้างกุฏิสงฆ์ญาณสํวโรอนุสรณ์ วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า
พ.ศ. ๒๕๓๐ จำพรรษาที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า
- สร้างศาลาเก้าห้องพระธาตุดอนเรือง
พ.ศ. ๒๕๓๑ จำพรรษาที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า
- สร้างพระวิหารวัดป่าสา และกุฏิสงฆ์ห้อยน้ำรุกถวาย อุทิศให้โยมพ่อคำหล้า
พ.ศ. ๒๕๓๒ จำพรรษาที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง พม่า
- สร้างอุโบสถวัดพระธาตุดอนเรือง พม่า
- สร้างแท่นแก้ววัดบ้านป่าข่า พม่า
พ.ศ. ๒๕๓๓ จำพรรษา ณ สวนพุทธอุทยาน ใกล้พระธาตุดอนเรือง
- สร้างพระวิหารวัดบ้านโปร่ง ตำบลเมืองพง
- สร้างปราสาทเก้าชั้น ที่พักสงฆ์พระธาตุดอนเรือง พม่า
พ.ศ. ๒๕๓๔ จำพรรษา ณ ห้วยดอนเรือง ใกล้พระธาตุดอนเรือง
- สร้างวิหารบ้านทุ่ง และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าข่า ตำบลเมืองพง พม่า
พ.ศ. ๒๕๓๕ จำพรรษา ณ ดอยป่าไม้เปา ใกล้พระธาตุดอนเรือง
- สร้างศาลาใหญ่วัดพระธาตุดอนเรือง และสร้างพระธาตุจอมหลวยปูตับ
- สร้างวิหารพระเจ้าอินทร์สานวัดพระะาตุดอนเรือง พม่า ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และสร้างพระธาตุถ้ำผาเรือง อำเภอแม่สาย
พ.ศ. ๒๕๓๖ จำพรรษา ณ ถ้ำห้วยรัง บ้านมูเซอ จ่ากู่
- สร้างพระธาตุดอยตุงคำ พระธาตุงำเมืองป่าข่า เป็นครั้งที่สอง
พ.ศ. ๒๕๓๗ จำพรรษา ณ ถ้ำห้วยรัง บ้านมูเซอ จ่ากู่
- สร้างพระธาตุวัดเชียงเจืองเมืองแจ่สิบสองปันนา และแท่นแก้ว วิหารวัดบ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย
- สร้างพระธาตุจอมสิงห์ เมืองยู้ พม่า
- สร้างพระแท่นแก้ววัดป่าคาแม่เงิน อำเภอเชียงแสน พระธาตุจอมคำ จอมแก้ว บ้านป่ากุ๊ก และวิหารวัดบ้านนา วัดหัวขรัว
- สร้างโบสถ์ยอดปราสาทกลางน้ำ วัดบ้านทุ่ง ตำบลเมืองพง และสร้างวิหารวัดสามปู เมืองพง พม่า
พ.ศ. ๒๕๓๘ จำพรรษา ณ ถ้ำห้วยรัง บ้านมูเซอ จ่ากู่
- สร้างพระธาตุสบพง พระธาตุกำลัง บ้านมูเซอ เชียงตุง สร้างพระธาตุวังลาว พนะธาตุบ้านแม่คำหนองบัว อำเภอเชียงแสน, พระธาตุบ้านม่วงคำ, พระธาตุดอนแท่น บ้านห้วยผึ้ง ประเทศลาว, พระธาตุซุ้มพระเจ้า ๑๑๒ องค์ที่พระธาตุทันใจ ตำบลเมืองพง, สร้างพระธาตุเจ้าองค์ปฐม บ้านหัวขัว พม่า, และศาลาหลวงปู่ครูบาธรรมชัยอนุสรณ์ วัดพระธาตุดอนเรือง
พ.ศ. ๒๕๓๙ จำพรรษา ณ ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง ระหว่างเมืองแฮะ เมืองขัน เขตหว้าแดง
- วางศิลาฤกษ์ พระธาตุหลักคำ (หลัก กม. ๒๔๐) เขตชายแดน ๓ ประเทศ คือ จีน – หว้าแดง – พม่า
พ.ศ. ๒๕๔๐ จำพรรษา ณ ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง ระหว่างเมืองแฮะ เมืองขัน เขตหว้าแดง
- ก่อฐานรากพระพุทธหลักคำ (หลัก กม. ๒๔๐)
- บูรณะพระธาตุจอมยอง เมืองยอง ประเทศพม่า
- บูรณะพระธาตุเก่าแก่ใกล้บ้านป่าสา
- บูรณะอุโบสถวัดพระเจ้าทองทิพย์ เชียงราก ประเทศลาว
- โปรดลูกศิษย์ เมืองลง เมืองเชียงรุ้ง เมืองฮาย ประเทศจีน
พ.ศ. ๒๕๔๑ จำพรรษา ณ ถ้ำผาจุติง ประเทศภูฐาน
- ก่อสร้างพระธาตุหลักคำ (หลัก กม. ๒๔๐) หลัก กม. เขตชายแดนจีน – หว้าแดง – พม่า
- บูรณะวัดบ้านด้าย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
- ก่อสร้างศาลา พระเจ้าอินทร์สาน วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง จังหวัดท่าขี้เหล็ก
- บูรณะพระธาตุดอยตุงคำ เมืองพง จังหวัดท่าขี้เหล็ก
- บูรณะพระธาตุจอมหงษ์ เมืองพง จังหวัดท่าขี้เหล็ก
พ.ศ. ๒๕๔๒ จำพรรษา ณ ถ้ำพระพุทธบาทผาช้าง เมืองแฮะ – เมืองขัน เขตหว้าแดง
- ฉลองพระธาตุหลักคำ (หลัก กม. ๒๔๐)
- ก่อสร้างศาลา พระเจาอินทร์สาน วัดพระธาตุดอนเรือง
- บูรณะวัดบ้านด้าย อ.เชียงแสน เชียงราย
- ก่อสร้างศาลา ดอยยางคำ
- บูรณะพระธาตุจอมหงษ์
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ พระครูบาเจ้าเดินทางโดยรถยนต์ออกจากจังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดท่าขี้เหล็กของสหภาพพม่าผ่านเชียงตุงไปจำพรรษา ณ ถ้ำน้ำตก เมืองแสนหวี สีป้อ ชายแดนสหภาพพม่ากับประเทศจีน ที่ถ้ำแห่งนี้จะมีน้ำตกไหลจากข้างบนถ้ำลงมาเพดานถ้ำและไหลลงหน้าถ้ำ ซึ่งพระครูบาเจ้าฯ ใช้เป็นที่สรงน้ำระหว่างจำพรรษา ณ ถ้ำแห่งนี้ ระยะทางจากเมืองมัณฑเลย์ของสหภาพพม่าไปยังถ้ำน้ำตกเป็นเขาลดเลี้ยวไปตลอดระยะทางหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
ใน พ.ศ. ๒๕๔๔ พระครูบาเจ้าเดินทางโดยเครื่องบินออกจากสนามบินจังหวัดท่าขี้เหล็กของสหภาพพม่าไปยังเมืองมัณฑเลย์แล้วต่อรถยนต์ เดินทางประมาณ ๑ วันครึ่ง ไปเมืองกูด ซึ่งอยู่เลยถ้ำน้ำตกไปอีก เป็นถ้ำอยู่ในหน้าผาสูงชันมาก พระครูบาเจ้าฯ ได้สร้างพระธาตุองค์ใหญ่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ชาวแสนหวี สีป้อไว้สักการะด้วย ในพรรษาที่ ๒ ที่เมืองแสนหวี – สีป้อ
ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูบาเจ้าฯ เดินทางไปจำพรรษา ณ ถ้ำผาจุติง ประเทศภูฐาน ระยะทางไม่ไกลจากเมืองปูนาคา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของประเทศภูฐาน เมื่อออกพรรษาแล้วพระครูบาเจ้าอาพาธมีไข้อยู่ตลอดมา จึงเดินทางกลับประเทศไทย
สองปีสุดท้ายของการจำพรรษาในต่างแดน พระครูบาเจ้าฯ เลือกที่จะกลับไปจำพรรษาที่ประเทศภูฐานอีก คือใน พ.ศ. ๒๕๔๖ และใน พ.ศ. ๒๕๔๗ พระครูบาเจ้าฯ เดินทางจากหมู่บ้านสุดเขตเมืองปูนาคา ไปจำพรรษา ณ สถานที่เดิมเคยเป็นสถานที่ราชการ คือ กองร้อยทหารตระเวนชายแดนซึ่งติดกับชายแดนทิเบตใช้เวลาเดินทาง ๔ วันเต็ม ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้สมเด็จอาของกษัตริย์ประเทศภูฐานได้บูรณะซ่อมแซมไว้และถวายให้เป็นที่จำพรรษาของพระครูบาเจ้าฯ สถานที่จำพรรษาแห่งนี้ในฤดูหนาวจะมีหิมะปกคลุมสูงถึงเข่า อากาศหนาวเย็นมาก
ตลอดเวลาที่พระครูบาเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ในต่างแดนคณะศิษยานุศิษย์จะผลัดกันดูแล อุปัฏฐาก จากทั้งลูกศิษย์และศรัทธาที่อยู่ในพื้นที่และจากประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ กระนั้นก็ดีจากส่วนลึกของจิตใจคณะศิษยานุศิษย์ก็ยังตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งพระครูบาเจ้าฯ คงเมตตากลับมาจำพรรษาในประเทศไทย
วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๘ สมเด็จพระราชินีภูฐานร่วมกับพระราชวงศ์จัดงานอายุวัฒนะมงคลถวายพระครูบาเจ้าฯ เพื่อเป็นมุทิตาจิตสักการะต่อวัตรปฏิบัติที่งดงามของพระครูบาเจ้าฯตลอดมา
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร เดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘ หลังจากนั้นท่านได้เมตตาให้โอกาสลูกศิษย์กราบเยี่ยมสักการะและพระครูบาเจ้าฯ ได้เดินทางต่างจังหวัดเพื่อสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตลอดจนเมตตาลูกศิษย์ตามสถานที่แห่งนั้นๆ รวมถึงลูกศิษย์ที่ประเทศไต้หวันด้วย ในช่วงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๕ มิถุนายน ๒๕๔๘ พระครูบาเจ้าฯ ได้ไปยังเมืองเฉินตู ประเทศจีน และทิเบต เพื่อเยี่ยมชมสถานที่และพระพุทธรูปสำคัญๆ
ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ศิษยานุศิษย์ปลาบปลื้มในความเสียสละของพระครูบาเจ้าฯอย่างมาก เมื่อพระครูบาเจ้าฯเลือกจำพรรษา ณ ถ้ำผาแดง บ้านล่อม ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งพระครูบาเจ้าเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เงียบสงบและใกล้ๆถ้ำยังมีชาวเขาถึง ๖ หมู่บ้าน ที่พระครูบาเจ้าฯยังเมตตาได้ ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ คณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดงานออกพรรษาถวาย ณ บริเวณหน้าถ้ำ มีการตั้งโรงทาน แจกเสื้อกันหนาว ผ้าห่ม อาหารแห้ง ตุ่มใส่น้ำตลอดจนปัจจัย ให้กับทุกครอบครัว และยังได้รับพรกันอย่างทั่วถึง
พรรษา ๓๐ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพุทธศาสนาแก่ พระ ว. ปิยะรัตนะ พระนักศึกษานาคหลวงจากประเทศศรีลังกา ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ วางศิลาฤกษ์สร้างหอประดิษฐานพระธาตุเขี้ยวแก้ว ลงบนที่ดินจำนวน ๔๓ ไร่ ซึ่ง ศ.น.พ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ หัวหน้าสาขาประสาทวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และคุณวิไลวรรณ ด.ช.นวภูมิ พวงวรินทร์ ถวายที่ดินเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ วางศิลาฤกษ์สร้างพระธาตุ ณ บ้านล่อม ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๘ วางศิลาฤกษ์บนดอยแม่สะโง๊ะ อ.เชียงแสน สร้างแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูป (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง)
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในองค์พระธาตุที่สร้างขึ้นใหม่ ณ ดอยเวียงแก้ว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ขอนอบน้อมบูชาแด่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย วิชาสาม วิชาแปด จารณสิบห้า เป็นผู้ถึงแล้วด้วยพระนิพพาน เป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้งสามอย่างยิ่ง เป็นผู้ประเสิรฐเป็นครูผู้สั่งสอนเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรม สั่งสอนสัตว์ให้ข้ามจากโอฆะสงสาร ด้วยเดชแห่งคุณพระพุทธเจ้าที่ข้าพเจ้าได้ประณต นอบน้อม ด้วยกาย วาจา และใจอันบริสุทธิ์นี้ ขอความสำเร็จมรรคผล พระนิพพานดวงตาเห็นธรรม สัจจะจงบังเกิดแต่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเทอญ
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
ลำดับครูบาอาจารย์โดยตรง ของ พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
- ๑. หลวงปู่ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทราวตากผ้า จังหวัดลำพูน
- ๒. หลวงปู่ครูบาอินทจักร์ วัดวนาราม (น้ำบ่อหลวง) สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- ๓. หลวงปู่ครูบาชัยวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน
- ๔. หลวงปู่ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- ๕. หลวงปู่ครูบาน้อย วัดบ้านปง แม่แตง
- ๖. หลวงปู่ครูบาคำแสน วัดดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
- ๗. หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (มหาวีระ ถาวโร)
- ๘. หลวงปู่หล้าตาทิพย์ วัดป่าตึง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
- ๙. หลวงปู่ฤาษีธนะธัมโม วัดถ้ำผาแตก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
- ๑๐. หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จ.พิจิตร
- ๑๑. หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ วัดสะแก จ.อยุธยา
- ๑๒. พระครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล วัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน เป็นพระสหธรรมิก
ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความดับทุกข์เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านได้ไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์แล้ว ส่วนมากไม่ได้มีโอกาสไปอยู่ด้วย
ครูบาอาจารย์ภาคอีสาน ที่ท่านได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์
- ๑. หลวงปู่นิล วัดครบุรี จ.นครราชสีมา
- ๒. หลวงปู่พุธ ฐานิโย วัดป่าสาละวัน จ.นครราชสีมา
- ๓. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
- ๔. หลวงพ่อแสวง วัดถ้ำพระ จ.สกลนคร
- ๕. หลวงปู่คูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
ที่มา หนังสือ ๓๐ พรรษาในร่มเงาพระพุทธศาสนา ของพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร
++++++++++++++++++++++++++++